ในปี พ.ศ. 2441 กรมป่าไม้ได้ยุบด่านภาษีไม้ชัยนาท และได้ตั้งที่ทำการป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์ มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ จังหวัดชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และตาก ต่อมาทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลเทศาภิบาลและป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 ได้มีพระราชกฤษฎีกา โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จึงมีผลทำให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มาอยู่ในความควบคุมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดส่วนราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคของประเทศ จากสำนักงานป่าไม้เขต เป็นสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 1 – 21 โดยสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 6 และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ในปัจจุบัน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 19/47 ถนนโกสีย์ใต้ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือประมาณ 240 กิโลเมตร บริเวณด้านทิศตะวันออกของถนนสายเอเชีย เชิงสะพานเดชาติวงศ์ด้านเหนือในปัจจุบัน
หน้าที่ตามกฎหมาย ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2547 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 26 ก วันที่ 24 มิถุนายน 2547 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ไว้ดังนี้
1)จัดทำแผนบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการหลักและนโยบายของกรม
2)ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ป่าไม้และการจัดการพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ในลักษณะงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า งานอุทยานแห่งชาติ งานอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร งานจัดการไฟป่า งานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายในพื้นที่อนุรักษ์ งานควบคุมตามกฎหมายป่าไม้ และงานตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3)สนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาและวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
ความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และงานด้านกิจกรรมชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์
4)ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
พื้นที่อนุรักษ์ หมายถึง พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร และบางส่วนของจังหวัดตาก เนื้อที่รวม 3,283,144 – 2 – 40 ไร่ ประกอบด้วย
- อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 2 แห่ง
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 แห่ง - วนอุทยาน จำนวน 5 แห่ง
- สวนรุกขชาติ 2 แห่ง
- พื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 1 แห่ง
- หน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 3 แห่ง
- หน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
* หมายเหตุ : จำนวนเนื้อที่เตรียมการประกาศจัดตั้งและขยายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย รวม 138,260 ไร่
๑.วิสัยทัศน์
"มุ่งมั่นบริหารจัดการเพื่อรักษามรดกโลก และเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ บนพื้นฐานทางวิชาการ อย่างมีส่วนร่วม"
๒.พันธกิจ
1. อนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
2. วิจัย พัฒนา และให้บริการด้านวิชาการ
3. บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยการมีส่วนร่วมบนพื้นฐานเทคโนโลยีที่เหมาะสม
4. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
๓. ค่านิยมองค์การ : PROTECT = คุ้มครองรักษา
P = Participation ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
R = Relevance งานตรงภารกิจ
O = Outcome มุ่งเน้นผลลัพท์จากการดำเนินงานเป็นหลัก
T = Team ทำงานเป็นทีม
E = Efficiency ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
C = Conservation อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
T = Technology นำวิทยาการมาใช้ในการปฎิบัติงาน