THAILAND
0890205
วันนี้
เมื่อวานนี้
อาทิตย์นี้
อาทิตย์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ตลอดวันนี้
990
1025
4755
876276
31918
35564
890205

ไอพีของคุณ: 192.168.102.1
2024-07-27:12
Visitors Counter

JBGMusic

 

               เขาหน่อ – เขาแก้ว เป็นแหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยาอันควรอนุรักษ์ที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาสูงและมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวและสนับสนุนการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาของประชาชนในท้องที่จังหวัดนครสวรรค์  และจังหวัดใกล้เคียง เป็นพื้นที่ไม่ห่างไกลชุมชนและมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงหลายแห่ง นอกจากนี้ยังได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของท้องถิ่นอันควรอนุรักษ์ในปีแห่งการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, 2543)

              จากหลักฐานในพระราชนิพนธ์ เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสเขาหน่อ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร ทรงพระดำเนินขึ้นเขาโดยจัดขบวนเสด็จเริ่มต้นที่วัดบ้านแดน ระหว่างทางทหารได้ถ่ายรูปเส้นทางเสด็จประพาส บ้านเรือนราษฎร ทิวทัศน์ของยอดเขาหน่อ ภาพฐานพระเจดีย์ซึ่งอยู่บนยอดเขาพระนางพันธุรัตน์ ลานร่มไม้หน้าเขาหน่อ ทางขึ้นถ้ำและหน้าถ้ำพระนอน ซึ่งภายในประดิษฐานพระนอน และพระพุทธรูปขนาดเล็กหลายองค์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระพันปีหลวง เสด็จประพาสเขาหน่อทรงจารึกอักษรพระนามย่อ ส.ผ. ไว้เหนือปากถ้ำพระนอนหรือถ้ำพระพุทธไสยาสน์ในปัจจุบัน เขาหน่อจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ การประกาศพื้นที่เขาหน่อ-เขาแก้ว เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะเป็นการช่วยสนับสนุนในการดูแลรักษาพื้นที่โบราณสถานวัดเขาหน่อ ต่อไป

              การใช้ประโยชน์ที่ผ่านมาทำให้แหล่งธรณีสัณฐานประเภทถ้ำเสื่อมโทรม ประกอบกับการมีระบบการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมเพียงพอ ส่งผลให้แหล่งธรรมชาติซึ่งมีคุณค่าทางธรณีวิทยาถูกละเลยจนเสื่อมโทรม นอกจากนี้รูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบันของชุมชนยังมุ่งเน้นการให้อาหารแก่ลิงเป็นหลัก ส่งผลให้พฤติกรรมของลิงเปลี่ยน การกำหนดพื้นที่บริเวณนี้เป็นวนอุทยาน เพื่อจะได้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งด้านการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติและการจัดการสัตว์ป่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง

              กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับแจ้งเหตุ “สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362” (แบบ สดป.01) แจ้งการรับแจ้งเหตุเกี่ยวกับปัญหาฝูงลิง ที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนบริเวณเขาหน่อ-เขาแก้ว หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเกรงว่าจะทำร้ายนักท่องเที่ยว และผู้แจ้งมีความประสงค์ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาโดยด่วน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นให้ประกาศจัดตั้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อจะได้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งด้านการท่องเที่ยว ศึกษาธรรมชาติ และการจัดการสัตว์ป่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ที่ตั้ง

         เขาหน่อ-เขาแก้ว ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ที่ยังคงสภาพป่า ประมาณ 1,114 ไร่ เป็นกลุ่มยอดเขาหินปูน รูปทรงสวยงามแปลกตา สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนบนถนนพหลโยธิน ช่วงจังหวัดนครสวรรค์ – กำแพงเพชร

khaonor khaokaew

KhoNor Map 1

ลักษณะภูมิประเทศ

               เขาหน่อ–เขาแก้ว มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนที่มีแนวทอดยาวจากทางด้านเหนือไปสู่ด้านใต้ พื้นที่โดยรอบติดกับพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน เขาหน่อ เขาแก้ว ถูกแยกออกจากกัน ดังนี้

                   เขาหน่อ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

                        - เขานางพันธุรัต เป็นภูเขาหินปูนลูกเล็ก อยู่ทิศเหนือของพื้นที่เขาหน่อ เขาแก้ว มียอดเขาสูงสุด 137 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

                        - เขาพระพุทธบาท เป็นภูเขาหินปูนอยู่ทางทิศใต้ของเขานางพันธุรัต มียอดเขาสูงสุด 238 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

              เขาแก้ว เป็นภูเขาหินปูนทอดยาว อยู่ทางทิศใต้ของพื้นที่ ถูกแบ่งจากเขาหน่อ โดยทางหลวงหมายเลข 3491 มียอดเขาสูงสุด 314 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

KhoNor Map 2

ธรณีวิทยา

              ลักษณะทางธรณีวิทยา บริเวณพื้นที่เขาหน่อ – เขาแก้ว เป็นหินปูน หินปูนแปรสภาพ และหินอ่อน สีเทา สีเทาอ่อน ยุคไซลูเรียน - ดีโวเนียน (SD) มีอายุประมาณ 438-360 ล้านปี มีการวางตัวของแนวชั้นหินอยู่ในทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันออกเฉียงใต้ เอียงเทไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ทรัพยากรป่าไม้

             สังคมพืชหรือชนิดป่าไม้ที่ปรากฏในพื้นที่สำรวจเขาหน่อและเขาแก้ว สามารถจำแนกได้เป็น ๒ สังคมพืชหลัก คือ

                       1. ป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบผสม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศบริเวณเขาหน่อและเขาแก้ว เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็ก โดดเดี่ยว มียอดแหลมคมและหน้าผาสูงชันชัดเจน สังคมพืชป่าเบญจพรรณที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณแล้งบนพื้นที่หินปูน โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขาที่ต่อเนื่องกับพื้นราบและถนนโดยรอบพื้นที่เขาหน่อและเขาแก้ว นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ตามแอ่งที่ราบบนเขาหินปูนเป็นหย่อมเล็ก ๆ ซึ่งสภาพป่าโดยรวมในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม - เมษายน) ต้นไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบทำให้เรือนยอดของป่าโปร่งมาก เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนต้นไม้จึงเริ่มผลิใบใหม่อีกครั้ง พันธุ์ไม้ที่พบทั่วไปได้แก่ ขว้าว (Haldina cordifolia) ขี้หนอน (Zollingeria dongnaiensis) ขี้เหล็กเลือด (Senna timoriensis) คาง (Albizia lebbeckoides) แคบิด (Fernandoa adenophylla) งิ้ว (Bombax ceiba) งิ้วป่า (Bombax anceps var. anceps) แจง (Maerua siamensis) ตะโกนา (Diospyros rhodocalyx) ตะคร้ำ (Garuga pinnata) ตะคร้อ (Schleichera oleosa) ตะแบกเกรียบ (Lagerstroemia cochinchinensis) ทองเดือนห้า (Erythrina stricta) ปรู๋ (Alangium salviifolium subsp. hexapetalum) มะกอก (Spondias pinnata) ยมหิน (Chukrasia tabularis) ยอเถื่อน (Morinda elliptica) ส้มกบ (Hymenodictyon orixense) สมอร่อง (Lagerstroemia subangulata) สวอง (Vitex limonifolia) และไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis) สภาพป่าพื้นล่างโดยทั่วไปจะมีไม้พุ่ม ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก และลูกไม้ของไม้เรือนยอดปกคลุมห่าง ๆ เช่น ขันทองพยาบาท (Suregada multiflorum) คนทา (Harrisonia perforata) เครือเขาน้ำ (Tetrastigma leucostaphyllum) จันทนา (Tarenna hoaensis) ชิงชี่ (Capparis micracantha) เถาวัลย์เปรียง (Derris scandens) น้ำใจใคร่ (Olax psittacorum) พุทรา (Ziziphus jujuba) โมกเครือ (Amphineurion marginatum) เลียงฝ้าย (Kydia calycina) แสลงพันเถา (Bauhinia pulla) พืชวงศ์กลอย (Dioscoreaceae) พืชวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) และพืชวงศ์บุก (Araceae) เป็นต้น

                          2. ป่าละเมาะเขาหินปูน จะพบบนโขดเขาหินปูนที่แห้งแล้ง หรือพื้นที่ที่เป็นหุบเหวค่อนข้างชื้น มักพบสังคมพืชที่มีลักษณะพิเศษเป็นหย่อมเล็ก ๆ ปรับตัวขึ้นอยู่ตามภูเขาหินปูนที่ไม่ปรากฏชั้นดินชัดเจน มีแค่โขดหินแหลมคมระเกะระกะ พันธุ์ไม้จะขึ้นอยู่ได้ตามซอกหรือแอ่งหินปูนที่มีการทับถมของซากอินทรีย์วัตถุเท่านั้น พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่มีใบหนาอุ้มน้ำ หรือลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมคม เช่น ขี้เหล็กฤๅษี (Phyllanthus mirabilis) จันทน์ผา (Dracaena cochinchinensis) ปอฝ้าย (Firmiana colorata) และสลัดไดป่า (Euphorbia antiquorum) เป็นต้น สังคมพืชที่พบยังสามารถจำแนกได้ ๒ สังคมพืชย่อย คือ สังคมพืชป่าละเมาะเขาหินปูนเปิดโล่ง และสังคมพืชป่าละเมาะเขาหินปูนชื้น ดังนี้

                               2.1 สังคมพืชป่าละเมาะเขาหินปูนเปิดโล่ง พบบริเวณสันเขาและยอดเขา ได้รับแสงแดดจัดตลอดทั้งปี มีชั้นดินตื้นและเนื้อดินน้อย ความสามารถในการสะสมน้ำน้อยมาก พันธุ์ไม้ที่พบมักทนความแห้งแล้งได้ดี หลายชนิดผลัดใบช่วงฤดูแล้ง ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นมีระบบรากที่แข็งแรง สามารถแทรกลงไปยึดเกาะในร่องบริเวณรอยแตกของหินปูน พืชล้มลุกส่วนใหญ่จะมีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง พืชเด่นที่พบ เช่น กาญจนิกา (Santisukia pagetii) จันทน์ผา (Dracaena cochinchinensis) ปอฝ้าย (Firmiana colorata) สมพง (Tetrameles nudiflora) และลั่นทม (Plumeria rubra) และพืชสกุลไทรชนิดต่างๆ (Ficus spp.) ในพื้นที่สองข้างทางเปิดใหม่จะพบปอขาว (Sterculia pexa) มะกัก (Spondias bipinnata) และยาบขี้ไก่ (Grewia laevigata) เป็นไม้ยืนต้นเบิกนำ พืชล้มลุกอื่น ๆ ที่พบ เช่น ชมลมหินดอกแดง (Finlaysonia puberulum) พลูช้าง (Scindapsus officinalis) และมะลิไส้ไก่ (Jasminum simplicifolium subsp. funale)

                                2.2 สังคมพืชป่าละเมาะเขาหินปูนชื้น จะพบบริเวณไหล่เขาและหุบเขาสูง ที่มีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูง ได้รับแสงแดดไม่จัดนัก ชั้นดินหนา ซึ่งพบพรรณไม้หลากชนิดกว่า พืชเด่นที่พบ เช่น กระเบากลัก (Hydnocarpus ilicifolia) ทลายเขา (Celtis philippensis) เทียนขโมย (Drypetes hoaensis) ประยงค์ขนบาง (Glycosmis puberula) ปูเล (Gyrocarpus americanus) สองกระดองหิน (Drypetes hainanensis) พญารากดำ (Diospyros rubra) พุดผา (Gardenia collinsae) และโพหิน (Ficus glaberrima) สำหรับไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และพืชล้มลุกอื่น ๆ ที่พบ เช่น ไทรหินขอบใบหยัก (Ficus anastomosans) บอนหิน (Alocasia acuminata) และพลับพลึง (Crinum asiaticum var. asiaticum) เป็นต้น

               พื้นที่เขาหน่อ - เขาแก้ว จังหวัดนครสวรรค์ พบว่ามีพรรณพืชที่สามารถจำแนกได้จำนวน 162 ชนิด 137 สกุล 51 วงศ์ โดยมีวงศ์ที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ วงศ์ FABACEAE พบจำนวน ๒7 ชนิด วงศ์ MALVACEAE พบจำนวน 13 ชนิดวงศ์ BIGNONIACEAE พบจำนวน 7 ชนิด วงศ์ RUBIACEAE พบจำนวน 7 ชนิด และวงศ์ APOCYNACEAE พบจำนวน 6 ชนิด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกพรรณพืชที่มีสถานภาพสำคัญในพื้นที่เขาหน่อ - เขาแก้ว ได้จำนวน 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้

                         1. พืชถิ่นเดียว (endemic) มี 3 ชนิด คือ กาญจนิกา (Santisukia pagetii) ชมลมหินดอกแดง (Finlaysonia puberulum) และมะกัก (Spondias bipinnata)

                         2. สถานภาพพืชที่ถูกคุกคามของประเทศไทย ตาม Pooma et al. (2005) มี 2 ชนิด คือ กาญจนิกา และขี้เหล็กฤๅษี (Phyllanthus mirabilis)

ทรัพยากรสัตว์ป่า

                 จากการสำรวจความหลากชนิดของสัตว์ป่าบริเวณเขาหน่อ-เขาแก้วโดยวิธีการสังเกตโดยตรง (Direct observation) สำรวจพบสัตว์ทั้งหมด 100 ชนิด 54 วงศ์ 21 อันดับ

                 1) นก (Avian) พบทั้งหมด 63 ชนิด 35 วงศ์ 16 อันดับ เมื่อประเมินสถานภาพสัตว์ป่าตามกฎหมาย (Status in law) ดังที่ประกาศแนบท้ายในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พบนกที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 59 ชนิด เช่น นกหัวขวานด่างอกลายจุด (Dendrocopos analis) นกกะเต็นน้อยธรรมดา (Alcedo atthis) นกบั้งรอกใหญ่ (Phaenicophaeus tristis) นกโพระดกธรรมดา(Psilopogon lineate) นกคุ่มอกลาย (Turnix suscitator) เป็นต้นและนกที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ นกพิราบป่า (Columba livia) นกเขาชวา (Geopelia striata) นกเขาใหญ่ (Streptopelia chinensis) และนกกระจอกบ้าน (Passer montanus)

                   สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560) ได้ระบุชนิดพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย พบว่านกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 63 ชนิด มี 2 ระดับ ได้แก่

                   - ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened : NT) พบ 4 ชนิด ได้แก่ นกแสก (Tyto alba) นกอีลุ้ม (Gallicrex cinerea) เหยี่ยวเพเรกริน (Falco peregrinus) และนกกระจาบทอง (Ploceus hypoxanthus)

                   - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 59 ชนิด เช่น นกกะเต็นปักหลัก (Ceryle rudis) นกจาบคาเล็ก (Merops orientalis) นกแอ่นทุ่งใหญ่ (Glareola maldivarum) เป็นต้น

                   สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of conservation or Nature and Natural Resources ) IUCN 2020 มีการจัดสถานภาพของสัตว์ป่าระดับโลก ซึ่งพิจารณาจากระดับการลดลงของจำนวนประชากรเนื่องจากการถูกคุกคาม พบว่านกที่มีการจัดสถานภาพทั้งหมด 63 ชนิด มี 2 ระดับ ได้แก่

                   - ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened : NT) พบ 1 ชนิด ได้แก่ นกกระจาบทอง (Ploceus hypoxanthus)

                   - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 62 ชนิด เช่น นกแอ่นพง (Artamus fuscus) นกกินปลีดำม่วง (Cinnyris asiatica) นกแซงแซวหงอนขน (Dicrurus hottentottus) เป็นต้น

                   2) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) พบทั้งหมด 22 ชนิด 10 วงศ์ 3 อันดับ เมื่อประเมินสถานภาพสัตว์ป่าตามกฎหมาย (Status in law) ดังที่ประกาศแนบท้ายในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 17 ชนิด เช่น ลิงแสม(Macaca fascicularis) ค้างคาวเล็บกุด (Eonycteris spelaea) ค้างคาวปากย่น (Chaerephon plicatus) ค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomasi) ค้างคาวปีกถุงเคราดำ (Taphozous melanopogon)เป็นต้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ กระรอกปลายหางดำ (Callosciurus caniceps) กระรอกหลากสี (Callosciurus finlaysonii) กระจ้อน (Menetes berdmorei) หนูหริ่งนาหางยาว (Mus caroli) และค้างคาวบัวฟันรี (Rousettus leschenaultii)

                   สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560) ได้ระบุชนิดพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย พบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 22 ชนิด มี 3 ระดับ ได้แก่

                   - ใกล้สูญพันธ์ (Endangered : EN) พบ 1 ชนิด ได้แก่ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม (Hipposideros halophyllus)

                   - มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) พบ 1 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวหน้ายักษ์หมอบุญส่ง (Hipposideros lekaguli)

                   - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 20 ชนิด เช่น ลิงแสม (Macaca fascicularis) กระรอกปลายหางดำ (Callosciurus caniceps) ค้างคาวหูหนูตีนโตเล็ก (Myotis horsfieldii) ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่(Megaderma lyra) ค้างคาวปากย่น (Chaerephon plicatus) เป็นต้น

                 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of conservation or Nature and Natural Resources ) IUCN 2020 มีการจัดสถานภาพของสัตว์ป่าระดับโลก ซึ่งพิจารณาจากระดับการลดลงของจำนวนประชากรเนื่องจากการถูกคุกคาม พบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการจัดสถานภาพทั้งหมด 22 ชนิด มี 3 ระดับ ได้แก่

                   - มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) พบ 1 ชนิด ได้แก่ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม (Hipposideros halophyllus)

                   - ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened : NT) พบ 1 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวหน้ายักษ์หมอบุญส่ง (Hipposideros lekaguli)

                  - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 20 ชนิด เช่น กระจ้อน (Menetes berdmorei) ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กสีจาง (Hipposideros cineraceus) ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus) หนูหริ่งนาหางยาว (Mus caroli) เป็นต้น

                  3) สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) พบทั้งหมด 9 ชนิด 5 วงศ์ 1 อันดับ เมื่อประเมินสถานภาพสัตว์ป่าตามกฎหมาย (Status in law) ดังที่ประกาศแนบท้ายในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535พบสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่ เหี้ย (Varanus salvator) และงูสิงหางลาย (Ptyas mucosa) สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 7 ชนิด เช่น จิ้งจกดินสยาม (Dixonius siamensis) จิ้งเหลนหลากลาย (Eutropis macularia) งูเขียวพระอินทร์ (Chrysopelea ornata) เป็นต้น

                 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560) ได้ระบุชนิดพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย พบว่าสัตว์เลื้อยคลานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 9 ชนิด มี 1 ระดับ ได้แก่

                   - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 9 ชนิด เช่น แย้เหนือ (Leiolepis belliana) จิ้งจกหางหนาม (Hemidactylus frenatus) งูสิงหางลาย (Ptyas mucosa) ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko)

                   สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of conservation or Nature and Natural Resources ) IUCN 2020 มีการจัดสถานภาพของสัตว์ป่าระดับโลก ซึ่งพิจารณาจากระดับการลดลงของจำนวนประชากรเนื่องจากการถูกคุกคาม พบว่าสัตว์เลื้อยคลานที่มีการจัดสถานภาพทั้งหมด 9 ชนิด มี 1 ระดับ ได้แก่

                   - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 9 ชนิด เช่น จิ้งเหลนบ้าน (Eutropis multifasciata) งูเขียวพระอินทร์ (Chrysopelea ornata) เหี้ย (Varanus salvator) จิ้งเหลนหลากลาย (Eutropis macularia) เป็นต้น

                   4) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibian) พบทั้งหมด 6 ชนิด 4 วงศ์ 1 อันดับ เมื่อประเมินสถานภาพสัตว์ป่าตามกฎหมาย (Status in law) ดังที่ประกาศแนบท้ายในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ไม่พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
ที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 6 ชนิด เช่น กบหนอง (Fejervarya limnocharis) อึ่งอ่างบ้าน (Kaloula pulchra) กบนา (Hoplobatrachus rugulosus) เขียดจิก (Hylarana erythraea) เป็นต้น

                สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560) ได้ระบุชนิดพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย พบว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 6 ชนิด มี 1 ระดับ ได้แก่

                   - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 6 ชนิด เช่น อึ่งอ่างบ้าน (Kaloula pulchra) คางคกบ้าน (Duttaphrynus melanostictus) กบนา (Hoplobatrachus rugulosus) อึ่งน้ำเต้า (Microhyla fissipes) เป็นต้น

               สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of conservation or Nature and Natural Resources ) IUCN 2020 มีการจัดสถานภาพของสัตว์ป่าระดับโลก ซึ่งพิจารณาจากระดับการลดลงของจำนวนประชากรเนื่องจากการถูกคุกคาม พบว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีการจัดสถานภาพทั้งหมด 6 ชนิด มี 1 ระดับ ได้แก่

                   - เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern : LC) พบ 6 ชนิด เช่น กบหนอง (Fejervarya limnocharis) คางคกบ้าน (Duttaphrynus melanostictus) เขียดจิก (Hylarana erythraea)  อึ่งน้ำเต้า (Microhyla fissipes) เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการ

                   1. เขานางพันธุรัต เป็นเขาลูกเล็กที่สามารถเดินขึ้นไปชมวิวบนยอดเขา ทางขึ้นอยู่บริเวณวัดเขาหน่อ นักท่องเที่ยวสามารถนำรถไปจอดยังจุดจอดรถของวัดเขาหน่อ ซึ่งมีประตูและกรงปิดมิดชิด เพื่อป้องกันลิง ทางขึ้นมีบันไดอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง เส้นทางร่มรื่น ใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาที ระหว่างทางจะพบถ้ำขนาดเล็กแห่งหนึ่ง เรียกว่า ถ้ำพระนอน ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ ด้านหลังสามารถเดินเข้าชมภายในถ้ำได้ ภายในถ้ำมืดและค่อนข้างชื้น หากต้องการเดินชม ควรใช้ไฟฉายในการนำทาง โดยสามารถเดินทะลุไปยังบันไดที่ขึ้นไปชมวิวได้ ทิวทัศน์ด้านบนมีความสวยงาม สามารถมองเห็นยอดเขาหน่อ

image007

image009

image011

image013

                          2.เขาพระพุทธบาท อยู่ห่างจากเขานางพันธุรัตประมาณ 300 เมตร ทางขึ้นอยู่บริเวณโรงเรียนวัดเขาหน่อ ซึ่งในปัจจุบันมิได้เปิดทำการเรียนการสอนแล้ว ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองและเจดีย์เก่าแก่อายุประมาณ 400 ปี สามารถชมวิวได้ 360 องศา การเดินขึ้นสู่ยอดเขาต้องเดินไปตามบันได 700 ขั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที ด้วยเส้นทางที่ท้าทาย และวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวที่ชอบแนวผจญภัยให้ความสนใจมาพิชิตยอดเขาหน่อ

image015

image017

image019

image021

                         3.เขาแก้ว มีกิจกรรมชมค้างคาวบินออกหากินจากปากถ้ำ โดยจะเริ่มออกหากินในเวลาประมาณหกโมงเย็น พบเห็นเป็นสายยาวออกมาจากปากถ้ำบนเขาแก้ว สร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้ที่มารอชม โดยบรรยากาศตอนเย็นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและพ่อค้า แม่ค้า และร้านค้าไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว

image023

image025