THAILAND
0744542
วันนี้
เมื่อวานนี้
อาทิตย์นี้
อาทิตย์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ตลอดวันนี้
978
1633
4493
734416
31317
31256
744542

ไอพีของคุณ: 192.168.102.1
2024-03-29:34
Visitors Counter

JBGMusic

Houikhakeng


1 1

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในอดีตนั้นพื้นที่ป่าบริเวณนี้ (ปี พ.ศ.2498) บางส่วนมีการให้สัมปทานการทำไม้แก่บริษัทไม้อัดไทย แต่เนื่องจากรัฐบาลโดยกรมป่าไม้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของห้วยขาแข้ง และห้วยทับเสลา มีสภาพป่าสมบูรณ์และสัตว์ป่าชุกชุม ประกอบกับเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าที่หายากหลายชนิด เช่น สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ ควายป่า ละองหรือละมั่ง และแมวลายหินอ่อน ควรจะรักษาพื้นที่ไว้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนี้พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขาแข้งและห้วยเสลาตอนบน ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการเกษตรและเศรษฐกิจด้านอื่นด้วย รัฐบาลจึงได้ดำเนินการผลักดันจนสามารถประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อ พ.ศ. 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 201 และประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอนที่ 132 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2515 เป็นแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ในขณะนั้นมีพื้นที่ รับผิดชอบประมาณ 1,019,379 ไร่ (1,631 ตารางกิโลเมตร) และได้มีการประกาศผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในปี พ.ศ.2529 อีก 589,775 ไร่ ทำให้มีเนื้อที่เป็น 1,609,150 ไร่ (23,574.64 ตารางกิโลเมตร) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 103 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 และได้ผนวกพื้นที่ในส่วนตอนเหนือและฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2535 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จากการที่ได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติม ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ติดกันที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของควายป่า สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งของประเทศไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 ทำให้มีพื้นที่รวมในปัจจุบัน 1,737,587ไร่ (2,780 ตารางกิโลเมตร)

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา:30/12/2535

HKK1

พื้นที่:1,737,587  ไร่

ภูมิประเทศ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาธงชัย ประกอบด้วยสันเขาน้อยใหญ่ หลายสันด้วยกัน โดยเฉพาะทางตอนเหนือของพื้นที่ สภาพภูมิประเทศลาดเทไปทางตอนใต้และมีที่ราบไม่กว้างขวางมากนักริมสองฝั่งลำห้วยขาแข้ง มียอดเขาที่สำคัญได้แก่ ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง (สูง 1,678 เมตร) ยอดเขาใหญ่ (สูง 1,554 เมตร) ยอดเขาน้ำเย็น (สูง 1,530 เมตร) ยอดเขาเขียว (สูง 1,347 เมตร) ยอดเขาปลายห้วยน้ำเย็น (สูง 1,224 เมตร) ยอดเขาปลายห้วยไทรใหญ่ (สูง 1,253 เมตร) ฯลฯ มีลำห้วยที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยขาแข้ง มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง นอกจากห้วยหลักดังกล่าวแล้วยังมีห้วยแยกขนาดเล็กอีกมากมาย แยกขึ้นรับน้ำจากทุกส่วนของพื้นที่หลายสายทำให้มีน้ำไหลตลอดปี ลักษณะลุ่มน้ำแบ่งออกเป็น 6 ส่วนด้วยกันคือ ลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ลุ่มน้ำห้วยทับเสลา ลุ่มน้ำห้วยระบำ ลุ่มน้ำห้วยสองทาง ลุ่มน้ำห้วยองค์ทั่ง และลุ่มน้ำห้วยวิง เนื่องจากมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ตั้งแต่เหนือสุดและทางฝั่งตะวันตกเป็นสันปันน้ำของลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง เป็นสาขาหนึ่งที่ไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ จึงมีลักษณะเหมือนกำแพงภูเขาที่สูงชัน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ทอดยาวจากเหนือจดใต้ ยาวประมาณ 100 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเขาสูงอีกหลายเทือกทางฝั่งตะวันออกของพื้นที่ อันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสายที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมในท้องที่อำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ไหลรวมลงแม่น้ำสะแกกรังลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ห้วยทับเสลา ห้วยคอกควาย ห้วยน้ำวิ่ง จุดที่สูงสุดของพื้นที่คือ ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง อยู่ในจังหวัดตากที่อยู่ทางตอนเหนือ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,687 เมตร ส่วนใหญ่เป็น ภูเขาบางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา ไม่มีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่

ภูมิอากาศ:โดยสภาพรวมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างภูมิอากาศในแถบร้อน (Tropical climate) กับภูมิอากาศในแถบกึ่งร้อน (Subtropical climate) จึงแบ่งช่วงฤดูกาลเป็นช่วงใหญ่ๆ เป็น 2 ช่วง คือ ฤดูแล้ง ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน รวม 6 เดือน โดยเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนมากที่สุดและฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม รวม 6 เดือน ช่วงฤดูที่มีอากาศหนาวจะมีระยะเวลาที่สั้นมากไม่เกินเดือนครึ่ง อยู่ระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคมเท่านั้น โดยในเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ซึ่งในบางปีมักจะเป็นช่วงที่เริ่มต้นของการเกิดไฟป่า ทำให้มีหมอกควันไฟทั่วบริเวณที่เกิดไฟไหม้ความแปรผันของอุณหภูมิอยู่ในช่วง 6 องศาเซลเซียส ถึง 38 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิสูงสุด 39 องศาเซลเซียส ในที่ราบและต่ำสุด 0 องศาเซลเซียส บริเวณยอดเขา อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 24.4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ยประมาณ 65 - 70 % ในฤดูหนาว ส่วนในฤดูฝนจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูงมาก เนื่องจากการคายน้ำของใบพืชและดินที่ชื้นจัด ปริมาณน้ำฝนมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1,552 มิลลิเมตร ต่อปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมมีปริมาณฝนมากที่สุดเฉลี่ยสูงถึง 370.33 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดในเดือนมกราคม แหล่งที่มาของฝนสู่พื้นที่จาก 3 แหล่ง คือ ฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน[ Typhoon ] และฝนจากร่องความกดอากาศ [Depression ]

ธรณีวิทยา:หินอันเป็นต้นกำเนิดของดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี เกิดในยุคคาร์โบนิเฟอรัส หินอันเป็นต้นกำเนิดดังกล่าวพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ท้องห้วย ยอดเขา และพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะทุกแห่ง

ทรัพยากรป่าไม้:พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งรวมของพรรณไม้ถึง 3 ภูมิพฤกษ์ คือ ภูมิพฤกษ์ Indo - China ภูมิพฤกษ์ Indo - Malaya ภูมิพฤกษ์ Indo - Burma สังคมพืชเด่นของพื้นที่ได้แก่ สังคมป่าผลัดใบ สังคมป่าดงดิบเขา สังคมป่าดงดิบชื้น สังคมป่าดงดิบแล้ง สังคมป่าเต็งรัง และสังคมป่าไผ่ นอกจากสังคมหลังดังกล่าวแล้วยังมีสังคมพืชย่อยที่น่าสนใจอีกหลายชนิด เช่น สังคมผาหิน กลุ่มไม้สนเขา สังคมดอนทรายริมลำน้ำ และสังคมป่าแคระที่ผ่านการทำลายมาก่อนลักษณะที่สำคัญของแต่ละสังคมพืชมีดังนี้ สังคมป่าดงดิบเขา [Hill Evergreen Forest Community] เป็นสังคมพืชที่กระจายในระดับสูง พบในพื้นที่ที่มีความสูง 1,000 - 1,554 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป เช่น บริเวณยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง บริเวณเทือกเขาเขียว เทือกเขาใหญ่และเทือกเขาน้ำเย็น ป่าชนิดนี้มีอยู่ประมาณ 235,156.25 ไร่ (376.25 ตารางกิโลเมตร) ปัจจัยอันเป็นตัวกำหนดสังคม [Limiting factors] ได้แก่ ความหนาวเย็นและความชื้นอันเนื่องมาจากความสูง อุณหภูมิจึงค่อนข้างต่ำตลอดปี ปกติอุณหภูมิจะไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส โครงสร้างทางด้านตั้งของป่าดงดิบเขา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แปรผันไปตามลักษณะภูมิประเทศ บริเวณยอดเขาสูงที่รับลมจัดมีไม้ใหญ่ขึ้นห่างๆ ลักษณะของความสูงไม่เกิน 10 เมตร พื้นป่ามีหญ้าและพืชล้มลุกปกคลุมหนาแน่นบริเวณหุบเขาที่มีดินลึก โครงสร้างประกอบด้วยสี่ชั้นเรือนยอด ชั้นบนสุดอาจสูงถึง 35 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ วงศ์ไม้ก่อ เช่น ก่อเดือย ก่อหนาม ก่อนก ก่อใบเลื่อม ฯลฯ ชั้นรองสูงประมาณ 15 - 20 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ มะนาวควาย เหมือดเขา พลองดง ปอขี้แรด ฯลฯ ชั้นไม้พุ่มสูงไม่เกิน 7 เมตร และชั้นคลุมดินสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งการแยกชั้นค่อนข้างเด่นชัดเฉพาะชั้นคลุมดินเท่านั้น สังคมป่าดงดิบชื้น [Moist Evergreen Forest Community] เป็นสังคมที่พบในบริเวณที่มีความชื้นสูง ปัจจัยที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดสังคมป่าชนิดนี้คือ ความชื้นในดินและอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อน ดินจะต้องเก็บความชื้นได้พอสำหรับการคงใบของพรรณไม้ตลอดปี ด้วยเหตุนี้สังคมป่าดงดิบชื้นจึงพบเฉพาะในลุ่มห้วยหรือที่ราบริมลำน้ำสายใหญ่ๆ ระดับดินตื้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบในหุบห้วยแถบเทือกเขาด้านตะวันออกและด้านเหนือของพื้นดิน ส่วนใหญ่เป็นดินทรายร่วนหรือดินเหนียวปนทรายร่วน เนื่องจากป่าชนิดนี้ชอบอุณหภูมิค่อนข้างร้อน จึงมีการกระจายอยู่ในช่วงความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ป่าดงดิบชื้นเป็นป่าที่ไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง อาจพบไม้ผลัดใบปรากฏบ้างแต่ปริมาณน้อย ไม้สำคัญที่เป็นไม้ดัชนีของสังคมได้แก่ ยางนา ยางกล่อม ตะเคียนทอง มะหาด กระบาก กระทุ่ม ลำพูนป่า และพวกปาล์ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้วัยรุ่นของพรรณไม้ชั้นเรือนยอดผสมจนแน่นทึบ เถาวัลย์ขนาดใหญ่พบได้ทั่วไป พื้นป่าค่อนข้างรกทึบด้วยพรรณไม้ล้มลุกที่ต้องการแสงน้อย สังคมป่าดงดิบแล้ง [Dry Evergreen Forest] พบกระจายในระดับเดียวกันกับป่าดงดิบชื้นแต่ขึ้นอยู่ในดินที่มีความชื้นน้อยกว่า เช่น บนสันเขาหรือหุบห้วยแห้งที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ดินค่อนข้างลึกเป็นดินร่วนปนทราย ทรายร่วนหรือดินทรายร่วนปนดินเหนียวพบในระดับความสูง 400 - 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ทั้งหมดของป่าชนิดนี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีอยู่ประมาณ 88,593.75 ไร่ (461.75 ตารางกิโลเมตร) ทางเทือกเขาด้านตะวันออก ทางเหนือ และทางตะวันตกของพื้นที่ ดินมีความเป็นกรดระดับปานกลาง ลักษณะโครงสร้างของสังคมประกอบด้วย เรือนยอดสูงประมาณ 40 เมตร เรือนยอดชั้นรองแบ่งแยกได้ไม่เด่นชัดนัก มีไม้ในป่าผลัดใบขึ้นผสมอยู่ค่อนข้างมาก ไม้หลักที่ใช้แยกในสังคมนี้ได้แก่ ยางแดง สะเดาปัก ยางโอน บางพื้นที่อาจพบยางนาและตะเคียนทอง ขึ้นผสมอยู่ด้วย ไม้ชั้นรองที่ใช้ในการจำแนกได้แก่ ค้างคาวกัดลิ้น ลำใยป่า กระเบากลัก มะไฟป่า สะทิบและคอแลน ในบริเวณที่โล่งอันเนื่องจากไม้ล้มจะพบกล้วยป่าขึ้นอย่างหนาแน่นผสมกับหญ้าและเฟิร์น โดยเฉพาะหญ้ายายเภา บริเวณริมห้วยชิดขอบน้ำจะมีผักกูด ผักหนาม และกอไคร้น้ำ ขึ้นค่อนข้างหนาแน่น ป่าดิบแล้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นที่รวมของกล้วยไม้หลายชนิด สังคมป่าผสมผลัดใบ [Mixed Deciduous Forest] มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 731,937.50 ไร่ พบในบริเวณสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 450 - 900 เมตร ปัจจัยกำหนดที่สำคัญได้แก่ ความลึกของดิน ช่วงความแห้งแล้งและระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณไม้เกือบทั้งหมดในสังคมจะปลดใบทิ้งในช่วงเดือนธันวาคม และออกใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายน พรรณไม้เด่นได้แก่ มะค่าโมง สมพง อินทนิลบก ก้านเหลือง เสลา คูณ เป็นต้น และมีป่าไผ่ขึ้นผสมอยู่ด้วย เนื่องจากป่าชนิดนี้ค่อนข้างโปร่งจึงมีเถาวัลย์ขนาดใหญ่ขึ้นผสมอยู่มาก ในฤดูฝนพื้นป่าจะหนาแน่นไปด้วยลูกไม้และพืชล้มลุกผสมกับไม้พุ่มเตี้ย มีหญ้าปรากฏทั่วๆ ไปอย่างน้อย 11 ชนิด สังคมป่าเต็งรัง [Deciduous Dipterocarp Forest] ป่าชนิดนี้มีอยู่ประมาณ 214,531.25 ไร่ (343.25 ตารางกิโลเมตร) พบในพื้นที่แห้งแล้ง ดินเก็บความชื้นได้ไม่นาน จึงปรากฏในที่ดินทรายจัด ดินตื้นและมีหินผสมอยู่มาก มีปรากฏอยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 200 - 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไม้เด่นของสังคมได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง ยางพลวง ยางกราด พุดป่า ตานกกรด และผักหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสังคมพืชในชั้นของการทดแทนที่ปรากฏอยู่หลายสังคมด้วยกัน เช่น สังคมผาหิน สังคม ไร่ร้าง และสังคมดอนทรายริมลำห้วย

ทรัพยากรสัตว์ป่า:ห้วยขาแข้งตั้งอยู่ในเขตที่เป็นรอยต่อของเขตภูมิศาสตร์ 4 ภูมิภาคของเอเชีย คือ ภูมิภาคซีโน -หิมาลายัน อินโด -เบอร์มิส อินโด -จีน และซุนดาอิค จึงเป็นศูนย์รวมของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ ทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารจึงมีความหลากหลาย จากการสำรวจและรวบรวมจากข้อมูล สามารถแบ่งสัตว์ป่าเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจและการตรวจเอกสารต่างๆ พบว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่ถึง 130 ชนิดพันธุ์ ซึ่งในจำนวนนี้จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อยู่ถึง 6 ชนิด ได้แก่ ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ และแมวลายหินอ่อน นอกเหนือจากสัตว์ป่าสงวนทั้ง 6 ชนิด แล้วยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองอื่นๆ และชนิดพันธุ์ซึ่งบางชนิดนั้นเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลกว่าเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ แต่ยังปรากฏค่อนข้างมากในพื้นที่แห่งนี้ ได้แก่ เสือโคร่ง ลิงอ้ายเงี๊ยะ ซึ่งพบในบริเวณป่าดิบเขาเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี ลิงวอก หมาไน ชะมดแผงสันหางดำ เสือลายเมฆ เสือดาว ช้างป่า วัวแดง กระทิง และลิ่น สัตว์ปีกหรือนก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดได้ว่าเป็นแหล่งที่พบนกมากแห่งหนึ่งทางภาคพื้นเอเชีย จากการสำรวจและรวบรวมเอกสารพบว่ามีอยู่ถึง 360 ชนิดพันธุ์ ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของนกทั้งหมดที่ค้นพบแล้วในประเทศไทย ในจำนวนนกที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อนกป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ หลายชนิดจัดได้ว่าเป็นนกที่ถูกบีบคั้นจากมนุษย์จนกลายเป็นนกที่กำลังจะสูญพันธุ์ เช่น นกปากห่าง เหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวทุ่ง พญาแร้ง นกเค้าเหยี่ยว นกเค้ากู่ นกเงือกกรามช้าง นกเงือกคอแดง นกแก๊ก นกกก นกหัวขวาน เป็นต้น ส่วนนกยูงจัดว่าเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดได้ว่าเป็นแหล่งพักของนกที่โยกย้ายถิ่นหลายชนิดด้วยกัน ในช่วงที่เขตอบอุ่นและเขตหนาวในซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาวนับจากเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมีนาคม นกเล็กๆ หลายชนิดได้โยกย้ายถิ่นลงมาหากินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ที่สำรวจพบมีดังนี้ นกอุ้มบาตร นกเด้าลม นกอีวาบตั๊กแตน นกเด้าดิน เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่กว้างใหญ่และมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ โดยรอบ และลักษณะภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกันภายในพื้นที่ทำให้เป็นที่รวมของสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด จากการสำรวจที่ผ่านมาพบแล้ว 81 ชนิด เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน 3 ชนิด ได้แก่ เต่าห้วยดำ ตุ๊กแกทะวาย และจิ้งเหลนภูเขาอินเดีย สำหรับสัตว์เลื้อยคลานที่หายากและชนิดที่ถูกทำลายจนกำลังจะกลายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ไป แต่พบในท้องที่ได้แก่ กิ้งก่าเขาหนามยาว กิ้งก่าหัวสีฟ้า เต่าหก เต่าเดือย กิ้งก่าแก้ว ตุ๊กแกบินหางหยัก ตะกวด และตะพาบแก้มแดง นอกจากนี้ยังมีสัตว์จำพวกงู ได้แก่ งูหางมะพร้าว งูจงอาง งูเหลือม ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จากการสำรวจและรวบรวม พบว่ามีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 37 ชนิด ซึ่งมีหลายชนิดที่สำคัญและกำลังถูกทำลายจนกลายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ ได้แก่ จงโคร่งและกบทูด นอกจากนี้ยังมีชนิดที่สำคัญ ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกสองชนิดได้แก่ คางคกแคระและคางคกหัวเรือย ปลาน้ำจืด จากการสำรวจปรากฎว่าพื้นที่แห่งนี้มีปลาน้ำจืดอยู่ถึง 105 ชนิด โดยมีชนิดที่ยังไม่มีรายงานพบในประเทศไทยอยู่ 9 ชนิด ปลาหลายชนิดจัดเป็นปลาที่หายากในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลาฉลาด ปลาเค้า ปลาเลียหิน จากการสำรวจมีชนิดพันธุ์ปลาอย่างน้อย 8 ชนิด เป็นปลาชนิดใหม่ในลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ ปลาในสกุล Acantopsis 1 ชนิด Cavasius อีกหนึ่งชนิด และอาจมีเพิ่มอีก 7 ชนิด

ลักษณะของชุมชนในพื้นที่:รูปร่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีลักษณะค่อนข้างยาวจากเหนือจดใต้ ตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำของลำห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนของจังหวัดตาก ในท้องที่ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีแนวเขตติดกับแนวเขตจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ จดแนวเขตจังหวัดนครสวรรค์ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุ้มผาง และป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา ทิศตะวันออก จดป่าสงวนแห่งชาติห้วยคอกควาย ป่าห้วยทับเสลา และพื้นที่ทำกินบางส่วน ทิศตะวันตก จดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าสงวนแห่งชาติเขาน้ำโจน ทิศใต้ จดแนวเขตจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ และแนวเขตจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแนวเขตพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติพุเตย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ที่เป็นผืนป่าเดียวกันในส่วนผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย

การคมนาคม:ตั้งต้นจากจังหวัดอุทัยธานีผ่านอำเภอหนองฉางและอำเภอลานสัก ถึงหลัก กม.53 มีทางแยกทางซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กม จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมระยะทางจากจังหวัดอุทัยธานีประมาณ 90 กิโลเมตร

ที่ตั้ง:ทิศเหนือ จดแนวเขตจังหวัดนครสวรรค์ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุ้มผาง และป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา

สถานที่ติดต่อ:สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตู้ ปณ. 7 อ. ลานสัก จ. อุทัยธานี 61160 หมายเลขโทรศัพท์ 085-7258433, 087-8400316 เวลา 08.00-16.30 น.

seub 3


เพลง คนขาแข้ง คำร้อง/ทำนอง วิมล กองแก ตำแหน่ง นักวิชาการป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

LineHorizonGif