THAILAND
0763405
วันนี้
เมื่อวานนี้
อาทิตย์นี้
อาทิตย์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ตลอดวันนี้
2602
2110
9083
750174
17121
33059
763405

ไอพีของคุณ: 192.168.102.1
2024-04-19:16
Visitors Counter

JBGMusic

T4 2


ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด

ประวัติความเป็นมา

          บึงบอระเพ็ดดั้งเดิมนั้นเป็นที่ราบลุ่ม ปกคลุมได้ด้วยป่าไม้เบญจพรรณ มีลำห้วย ลำคลองไหลมารวมกัน เกิดเป็นหนองน้ำและบึงขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่หลายแห่ง ก่อนจะไหลออกสู่แม่น้ำน่านทาง  คลองบอระเพ็ด เมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่บริเวณนี้จะท่วมท้นกลายเป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย แต่ในฤดูแล้งน้ำในบึงบอระเพ็ดก็ไหลออกจนแห้งลงเหลือแต่บริเวณที่เป็น ห้วย หนอง บึงเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 กระทรวงเกษตราธิการได้สร้างคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำบริเวณ คลองบอระเพ็ด เพื่อทำการเก็บกักน้ำไว้สำหรับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแล้วเสร็จ ปี 2471 จึงทำให้บึงบอระเพ็ดกลายเป็นแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่ขึ้นและมีน้ำท่วมขังตลอดปี ซึ่งในปัจจุบันบึงบอระเพ็ดมีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นที่     ราชพัสดุซึ่งใช้ในราชการของกรมประมง

       ในอดีตบึงบอระเพ็ดอุดมสมบรูณ์ไปด้วยพืชน้ำรวมทั้งพันธุ์ปลาและสัตว์นกน้ำนานาชนิด โดยเฉพาะจระเข้มีอยู่ชุกชุมมาก พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปคำว่าจอมบึง และทะเลเหนือก็เป็น ชื่อเรียกที่หมายถึงบึงแห่งนี้ ในปี พ.ศ. 2511 บึงบอระเพ็ดก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก เมื่อมีการค้นพบ  นกชนิดใหม่ คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตระหนักดีถึงภัยคุกคามที่มีต่อนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และนกน้ำนานาพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นถูกล่าเป็นจำนวนมาก จนปริมาณนกลดลงอย่างน่าวิตก จึงได้ดำเนินการประกาศให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบึงบอระเพ็ดเนื้อที่ประมาณ 66,250 ไร่ เป็น “เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” ในปี พ.ศ. 2518 และได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ทำให้นกน้ำนานาชนิดและสัตว์ป่า ชนิดต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบึงบอระเพ็ด ได้รับการดูแลรักษาปกป้อง คุ้มครอง ให้อยู่รอดปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้มีนกน้ำนานาชนิดเข้ามาอยู่อาศัยอยู่ชุกชุม จนได้รับการกล่าวขานว่า “อุทยานนกน้ำบึงบอระเพ็ด”  

          บึงบอระเพ็ดในบริเวณที่เรียกว่า “อุทยานนกน้ำ” กลายเป็นแหล่งที่ดึงดูดผู้คนให้เกิดความสนใจ  เข้าไปเที่ยวชมและพักผ่อนหย่อนใจอยู่เสมอ ซึ่งบริเวณดังกล่าวยังคงสภาพความอุดมสมบรูณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ   นกน้ำ พืชน้ำ และระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดจนทิวทัศน์ที่งดงาม กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เห็นพื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะเป็นแหล่งสำหรับการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป จึงได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ขึ้น ในปี พ.ศ. 2535 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” ในปี พ.ศ.2545 ตามโครงสร้างการบริหารงานใหม่ และในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น“ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” สังกัดส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และในปี พ.ศ.2538 กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ได้จัดตั้ง “สถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางวิชาการ โดยมุ่งเน้นในเรื่องนกน้ำชนิดต่าง ๆ และพื้นที่ชุ่มน้ำ  ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและหากินของนกน้ำนานาชนิด

ลักษณะภูมิประเทศ

         บึงบอระเพ็ดมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำตามคำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ เพราะมีน้ำท่วมขังตลอดปี บางแห่งเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะและเป็นเกาะ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ  โดยพื้นที่ในบึงบอระเพ็ดมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะสภาพพื้นที่ โดยมีพันธุ์พืชน้ำขึ้นอยู่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ส่วนสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ใน  บึงบอระเพ็ด มีทั้ง ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทินบก  สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งแมลงต่าง ๆ ในปัจจุบันบึงบอระเพ็ด มีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ เป็นแหล่งรวมของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ ที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ลักษณะภูมิอากาศ

                   สภาพภูมิอากาศของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด มี 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว  ฤดูร้อน  ฤดูฝน

                   ฤดูหนาว ระหว่างเดือน กันยายน - กุมภาพันธ์

                   ฤดูร้อน ระหว่างเดือน มีนาคม - พฤษภาคม

                   ฤดูฝน ระหว่างเดือน มิถุนายน - ตุลาคม

                   อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ  20  องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43 องศาเซลเซียสอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28  องศาเซลเซียส

สภาพบึงและพรรณไม้น้ำ

         สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดปี บางแห่งเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะและเป็นเกาะ ลักษณะแหลมประกอบกันรวมอยู่ในบึงบอระเพ็ดแห่งนี้และประกอบกับมีความเหมาะสมส่งผลให้พืชพรรณไม้น้ำในบึง มีหลากหลายชนิดสามารถแบ่งได้ 6 ชนิด ตามสภาพพื้นที่ 

สภาพบึงและพรรณไม้น้ำ

          สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดปี บางแห่งเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะและเป็นเกาะ ลักษณะแหลมประกอบกันรวมอยู่ในบึงบอระเพ็ดแห่งนี้และประกอบกับมีความเหมาะสมส่งผลให้พืชพรรณไม้น้ำในบึง  มีหลากหลายชนิดสามารถแบ่งได้ 6 ชนิด ตามสภาพพื้นที่  คือ

          1. บริเวณพื้นน้ำ (Open Water) เป็นบริเวณที่มองไปแล้วเห็นแต่พื้นน้ำไม่มีพืชใด ๆ ขึ้น แต่ที่แท้จริงแล้ว  มีพรรณพืชหลายชนิดอยู่ไต้น้ำหรือปริ่มน้ำ ได้แก่ แหน หรือแหนปากเป็ด สาหร่ายข้างเหนียว สาหร่ายหางกระรอก และสาหร่ายฉัตร จะพบอยู่บริเวณกลางบึงน้ำ   ซึ่งค่อนข้างลึกหรือบริเวณแนวคลองเดิม

image004

          2. บริเวณพืชลอยน้ำ (Floating Weed)  เป็นบริเวณที่มีพืชบางชนิดลอยอยู่เหนือน้ำมองเห็นได้ชัดเจน ได้แก่จอกหูหนู ผักตบชวา แพงพวยน้ำ ผักบุ้ง และกระจับเป็นต้น บริเวณพืชลอยน้ำจะกระจายอยู่ทั่วไปในบึงซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ลึกมานัก ปกติอยู่โดยรอบบริเวณพื้นน้ำ

         3. บริเวณพืชพ้นน้ำ (Emergent Weed) เป็นบริเวณที่มียอดหรือปลายพืชโผล่เหนือน้ำมาบ้างน้อยบ้าง ได้แก่ กกสามเหลี่ยม ธูปฤาษี บัวหลวง บัวสาย หญ้าแพรกน้ำ  เทียนนา แห้วทรงกระเทียม บริเวณพืชพ้นน้ำปกติเป็นบริเวณที่ค่อนข้างตื้นกระจายอยู่ทั่วไปในบึงโดยเฉพาะบริเวณขอบบึง

image006

        4. บริเวณเกาะ (Island) เป็นบริเวณพื้นดินอยู่ภายบึงอาจเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเนินหรือเขาเตี้ยๆ เมื่อมีการเก็บกักน้ำ แล้วน้ำท่วม  ไม่ถึง ซึ่งบริเวณนี้จะมีพรรณพืชเช่นเดียวกับบริเวณบนบก ทุกประการ เกาะอาจจะเกิดขึ้นอีกกรณีหนึ่งคือการสะสมตะกอนทำให้เกิดการตื้นเขินขึ้น จนกลายเป็นเกาะบริเวณเหล่านี้ในช่วงฤดูแล้งอาจจะแห้ง  ส่วนในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมทั้งหมดหรือบางส่วน นอกจากนี้ยังมีเกาะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดูดตะกอนขึ้นมาทำเป็นเกาะ เช่น เกาะดร.สมิธ พรรณพืชที่สำคัญในเกาะ คือ ลำเอียก อ้อ หญ้าปล้อง และหญ้าข้าวนก

        5. บริเวณป่าบึงน้ำจืด  (Fresh water Swamp) เป็นบริเวณที่อยู่ริมหรือขอบบึงน้ำจะท่วมในฤดูน้ำหลาก  และแห้งในฤดูแล้ง มีพืชพรรณหลายชนิดที่สำคัญ ๆ เช่น  สนุ่น จิกนาก้านเหลือง และทองกวาว

        6. บริเวณทุ่งนา (Paddy Field) เป็นบริเวณรอบๆบึง ซึ่งมักจะปลูกข้าวในฤดูฝน ส่วนฤดูอื่นอาจปลูกพืชไร่ เช่นข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือทิ้งไว้กลายเป็นทุ่งหญ้า บริเวณทุ่งนาดังกล่าวนี้รวมถึงบริเวณบึงที่เป็นหาดโคลน ซึ่งไม่มีพืชใด ๆ อยู่หรือมีแต่น้อย น้ำจะท่วมหรือแล้งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่กักเก็บ ปกติ ในฤดูฝนถูกน้ำท่วมส่วนในฤดูแล้งค่อนข้างแห้งแล้ง

สัตว์ป่า  สัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่  ได้แก่

1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  เช่น พังพอนธรรมดา  หนูพุกเล็ก  หนูพุกใหญ่  หนูท้องขาว  ค้างคาว

image008

2. สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด  ตะพาบน้ำ  ตับหับเต่านา  เหี้ย  งูแสงอาทิตย์  งูแมวเซา  งูเห่า งูหลาม  งูเหลื่อม  ปลวก  เต่าดำ

image009

3. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก  เช่น  เขียดจะนา  เขียดจิก  กบนา   กบหนอง  เขียดตะปาด  อึ่งอ่างบ้าน  อึ่งขาดำ  คางคก

image010

4. สัตว์จำพวกนก สามารถแบ่งออกเป็น  3 ชนิด  นกประจำถิ่น  นกอพยพ  และทั้งประจำถิ่นและอพยพ

- นกประจำถิ่น ได้แก่      นกอีโก้ง  นกอีแจว  นกแอ่นบ้าน  นกพิราบ  นกเขาใหญ่ นกกวัก  นกอัญชันคิ้วขาว

image011

- นกอพยพย้ายถิ่น  ได้แก่  นกเป็ดแดง นกชายเลนน้ำจืด  นกแอ่นทุ่งใหญ่ นกแอ่นทุ่งเล็ก  นกคู๊ท  นกนางนวลแกลบ  นกกระทุง

image012

- นกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ ห่านเทา  เป็ดหงส์  นกกระรางหัวขวาน  นกกระเต็นน้อยธรรมดา  นกกระเต็นแดง นกกระเต็นหัวดำ  นกกะปูดเล็ก นกอีลุ้ม  นกอีล้ำ นกตีนเทียน  นกอีแจว

 

5. สัตว์จำพวกปลา  ได้แก่  ปลาตะเพียน   ปลานิล  ปลาดุก  ปลาสวาย  ปลาฉลาด  ปลาชะโด ปลาช่อน  ปลาเสือตอ  ปลาซิว  ปลาแปลบ

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ       

         ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ได้บริหารจัดการพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บึงบอระเพ็ด ไว้รองรับผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของ บึงบอระเพ็ดทั้งหมด โดยทางหน่วยงานได้จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ไว้บริการ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ  คู่มือศึกษาธรรมชาติ  หลักสูตรและโปรแกรมการศึกษาธรรมชาติ  ห้องนิทรรศการ ห้องสมุด หอประชุม หอและซุ้มดูนก  กล้องดูนก  ค่ายพักเยาวชน  ที่กางเต็นท์  เรือนำชมธรรมชาติในบึง  ห้องน้ำ  ห้องสุขา  ลานจอดรถ  และเจ้าหน้าที่สื่อความหมายธรรมชาติ  โดยมีจุดเด่นในพื้นที่ที่น่าสนใจ  ได้แก่

1. อนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

     สามารถชมนกน้ำนานาชนิดได้บริเวณนี้ และถ่ายภาพพื้นที่  บึงบอระเพ็ดได้หลากหลายบรรยากาศ

image016

2. ศาลเจ้าแม่หมอนทอง

     เป็นศาลที่ชาวบึงบอระเพ็ดให้ความเคารพนับถือกันอย่างมาก  ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านจะลงบึงเพื่อทำการประมงก็จะมาบอกกล่าว  ที่ศาลก่อน

image017

3. จุดชมทิวทัศน์ (หอดูนก)

     บริเวณหอดูนกจะเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ในมุมสูงของ  บึงบอระเพ็ดได้เป็นอย่างดี

image018

4. พื้นที่นันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ

     จะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทั่วปามารถเดินเท้าและปั่นจักรยานเข้าไปใช้บริการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เช่น การดูนก  ถ่ายภาพ  เดินศึกษาธรรมชาติ  ปั่นจักรยาน  เป็นต้น

5. เส้นทางศึกษาธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ระยะทางประมาณ 2,020 เมตร อยู่ในบริเวณสำนักงานศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ห่างจากตัวสำนักงานไปประมาณ 100 เมตร

image020

image021

6. เส้นทางศึกษาธรรมชาตินกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ระยะทางประมาณ 1,350 เมตร อยู่ในบริเวณหอดูนก ห่างจากสำนักงานไปประมาณ 400 เมตร

image022

image023

7. เส้นทางศึกษาธรรมชาติทางน้ำ (Board work) ระยะทางประมาณ 444 เมตร

image024

วัตถุประสงค์การจัดตั้งหน่วยงาน

                   ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้

                   1. เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ   สัตว์ป่า  พืชพรรณ  ป่าไม้  และสิ่งแวดล้อม

                   2. เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัย  และเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ

                   3. เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

ภารกิจหน้าที่

                   1. ให้การศึกษา ส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และบริการข้อมูลข่าวสาร เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

                   2. สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป จัดตั้งกลุ่มองค์กรและเครือข่ายอนุรักษ์ ตลอดจนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

                    3. ศึกษาค้นคว้าวิจัย และเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิชาการด้านธรรมชาติวิทยา การสื่อความหมายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศึกษา 

4. สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  การนันทนาการ  และการพักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชน

สถานที่ติดต่อ

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด  66/10 หมู่ที่ 5  ตำบลพระนอน  อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ 60000 โทรศัพท์/โทรสาร 056-009716  E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เส้นทางการคมนาคม

- จากทางสายเอเชียแยกเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3004 ระยะทาง 17 กิโลเมตร และแยกเข้าทางหลวงชนบท หมายเลข 4066 อีก 3.4 กิโลเมตร

image027


LineHorizonGif