ประวัติความเป็นมา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)
จากอดีตการค้าขายการสัญจรไปมาของประชาชนในประเทศไทยใช้ลำน้ำเป็นหลัก ซึ่งแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือของประเทศไทยคือ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปากน้ำโพในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถือว่าเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นศูนย์กลางของการค้าขายและการคมนาคม ภายหลังจากเมื่ออังกฤษได้ครอบครองอินเดียและพม่าและได้รู้จักคุณค่าของไม้สักที่เป็นไม้คุณภาพดีมีราคา จึงได้มีการตัดฟันไม้สักจากประเทศอินเดียและพม่าไปจำหน่ายยังประเทศอังกฤษทำกำไรให้แก่พ่อค้าชาวอังกฤษเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศอินเดียและพม่าเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และต่อมาอังกฤษได้ทราบว่ามีป่าไม้สักขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือของประเทศสยาม จึงต้องการเข้ามาทำไม้สักจากประเทศสยามไปค้าขายทำกำไรบ้าง โดยผู้ประสงค์จะทำไม้ต้องขออนุญาตจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่านเสียก่อน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการอนุญาตซ้ำซ้อน มีกรณีพิพาทระหว่างผู้ขอทำไม้และเจ้าผู้ครองนครเจ้าของป่าอยู่เสมอ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงมีพระบรมราชโองการว่าด้วยการภาษีไม้ขอนสักและไม้กระยาเลย ในปีพ.ศ.2417 อันเป็นการวางรากฐาน การจัดเก็บภาษีและควบคุมการทำไม้ให้เป็นระเบียบและมีรากฐานเดียวกัน
ต่อมารัฐบาลสนใจที่จะเข้าควบคุมการทำไม้ให้รัดกุมยิ่งขึ้นและต้องการที่จะปรับปรุงสถานการณ์ป่าไม้ของสยามให้ดียิ่งขึ้น จึงได้ติดต่อกับรัฐบาลอินเดียและอังกฤษขอยืมตัวผู้เชี่ยวชาญด้านการป่าไม้มาช่วย ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ส่ง มร.เอช เอ สเลด ชาวอังกฤษผู้เคยปฏิบัติงานอยู่ในกรมป่าไม้พม่า ซึ่งได้ทำการสำรวจดูงานในท้องที่ต่างๆ ในภาคเหนือของสยามในขณะนั้นและจัดทำรายงานว่า การป่าไม้ทั้งหมดยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าผู้ครองนคร แทนที่จะอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาล รวมทั้งการทำไม้เท่าที่เป็นอยู่ยังไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ถูกต้อง และขาดหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองรักษาป่าไม้ให้อำนวยผลอย่างถาวร และได้เสนอแนะข้อแก้ไขปัญหาไว้หลายประการ โดยให้ทำการจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นพร้อมทั้งออกพระราชบัญญัติป่าไม้มาเป็นเครื่องมือในการป้องกันรักษาป่าอย่างมีแบบแผนตลอดจนการปรับปรุงสัญญาเงื่อนไขต่างๆ กับผู้ทำไม้ เพื่อเป็นการป้องกันการเสียเปรียบของรัฐบาลสยาม และประการสำคัญได้เสนอการจัดตั้งด่านเก็บภาษีไม้ในสถานที่ที่เหมาะสมหลายแห่ง เพื่อสะดวกในการเก็บเงินภาษีบำรุงรัฐบาลให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากข้อเสนอดังกล่าวนี้ กระทรวงมหาดไทยเห็นด้วยและสนับสนุนข้อเสนอแนะของ มร.สเลด และทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมป่าไม้ขึ้นตามพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 62/385 ลงวันที่ 18 กันยายน ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) จึงขออัญเชิญมาแสดงไว้โดยย่อเป็นบางตอนดังต่อไปนี้ “ถึงกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ด้วยจดหมายที่ 88/19337 ลงวันที่ 6 เดือนนี้ ส่งรายงาน มิสเตอร์สเลด ตรวจการป่าไม้มีความเห็นที่จะจัดการต่อไป มหาดไทยเห็นชอบด้วย ขออนุญาตจัดการนั้นได้ตรวจดูตลอดแล้ว เห็นว่าความคิดมิสเตอร์สเลดเป็นความถูกต้องดีแท้ทุกประการ เป็นอนุญาตให้จัดการตามที่ว่า...กรมป่าไม้นั้น เป็นที่ตกลงให้ตั้ง บรรดาป่าไม้ทั้งปวงและด่านภาษีเมืองชัยนาทให้อยู่ในกระทรวงมหาดไทย” จึงอาจกล่าวได้ว่า
กรมป่าไม้ได้กำเนิดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน ร.ศ. 115 หรือ พ.ศ. 2439 และภายหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้มิสเตอร์ เอช เอ สเลด เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรก มีที่ทำการกรมป่าไม้ที่จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2441 ได้ยุบด่านภาษีไม้ชัยนาท ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 มาตั้งตำบลโพตก อำเภอปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และได้ตั้งที่ทำการป่าไม้ภาคมณฑล นครสวรรค์ขึ้นในปีเดียวกัน มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบจังหวัดชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์กำแพงเพชรและตาก โดยมีนาย เอ ดับเบิลยู คูปเปอร์ เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์คนแรก ที่ทำการตั้งอยู่ที่เดียวกันกับด่านป่าไม้ปากน้ำโพ ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันตกของถนนพหลโยธิน เชิงสะพานเดชาติวงศ์ด้านเหนือ ซึ่งด่านป่าไม้ปากน้ำโพ มีมิสเตอร์ มอคเคอร์ มาดำรงตำแหน่ง นายด่านภาษีปากน้ำโพ ถึงปี พ.ศ. 2443 และย้ายไปเป็นผู้ช่วยส่วนตัวเจ้ากรมป่าไม้ แล้วแต่งตั้ง มิสเตอร์ พี เอ ฮอพพ์แมน มาดำรงตำแหน่ง นายด่านภาษี ปากน้ำโพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449 เป็นคนต่อมา การปฏิบัติงานในระยะแรกงานของป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์ เน้นหนักไปในการจัดรูปแบบงานสร้างอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่การเก็บภาษีไม้ซุง ซึ่งผูกแพลอยมาตามลำน้ำปิง วัง ยม น่าน การตรวจสอบงานและสำรวจป่า การโต้ตอบและรายงานด่าน ซึ่งเน้นลักษณะงานการควบคุมการ ทำไม้ออกจากพื้นที่ป่า ในเขตท้องที่ภาคเหนือ และในพื้นที่รับผิดชอบ ต่อมาทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลเทศาภิบาลและป่าไม้ภาค มณฑลนครสวรรค์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 สมัยนายเฉลิม ศิริวรรณ ดำรงตำแหน่งป่าไม้เขตนครสวรรค์คนแรก
ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ตัดถนนสายพหลโยธินจากกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2485 ขึ้นสู่ภาคเหนือและตัดผ่านจังหวัดนครสวรรค์ สร้างสะพานเดชาติวงศ์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จปี พ.ศ.2493 หลังจากนั้นด่านทางน้ำก็เริ่มลดความสำคัญลงตามลำดับและกลายเป็นด่านป่าไม้ทางบก สำหรับงานของสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์นั้น ยังคงเป็นงานด้านการทำไม้ จากสัมปทานของผู้รับสัมปทานภายในประเทศ งานสงวนและคุ้มครองป่า งานจัดการที่ดินป่าไม้ งานอนุญาตไม้สักและไม้ยางเพื่อการใช้สอยส่วนตัว งานปลูกและบำรุงป่า ซึ่งการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักในท้องที่สำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505 ที่สวนป่าบ้านไร่ทรงธรรม จังหวัดกำแพงเพชร งานป้องกันรักษาป่า งานสำรวจพื้นที่เพื่อประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 ได้มีพระราชกฤษฎีกา โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2545 มีผลทำให้กรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มาอยู่ในความควบคุมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดส่วนราชการส่วนกลาง ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคของประเทศจากสำนักงานป่าไม้เขตเป็นสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 1 – 21 โดยสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 6 และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ในปัจจุบัน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 19/47 ถนนโกสีย์ใต้ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือประมาณ 240 กิโลเมตร บริเวณด้านทิศตะวันออกของถนนสายเอเชีย เชิงสะพานเดชาติวงศ์ ด้านเหนือในปัจจุบัน
อำนาจหน้าที
1. จัดทำแผนบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการหลักและนโยบาย
2. ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในลักษณะงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า งานอุทยานแห่งชาติ งานอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร งานจัดการไฟป่า งานป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายในพื้นที่อนุรักษ์ งานควบคุมตามกฎหมายป่าไม้ และงานตามกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
3. สนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และงานด้านกิจกรรมชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์
4. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
รูปประวัติศาสตร์ด้านป่าไม้