ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และกิ่งอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 558.750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร
ด้วย นายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0104/9871 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ขอให้จัดพื้นที่ป่าแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีสภาพธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง สภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1290/2526 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2526 ให้นายชัยณรงค์ จันทรศาลทูล นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูล ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่กระสาหรือแม่กี ซึ่งสูงประมาณ 200 เมตร และหน้าผาต่างๆ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2526
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2528 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองขลุงและป่าคลองแม่วงก์ในท้องที่ตำบลปางตาไว อำเภอคลองขลุง (ปัจจุบันเป็นอำเภอปางศิลาทอง) จังหวัดกำแพงเพชร และป่าแม่วงก์–แม่เปิน ในท้องที่ตำบลแม่เลย์ และตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ (ปัจจุบันเป็นตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ และตำบลแม่เปิน กิ่งอำเภอแม่เปิน) เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 104 ตอนที่ 183 ลงวันที่ 14 กันยายน 2530 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศ
ขนาดพื้นที่
558,750 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่
-ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.1 (ด่านตรวจ กม.57)
-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.2 (ปางข้าวสาร)
-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.3 (เขาเขียว)
-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)
-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.5 (ปางสัก)
-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.6 (ซับตามิ่ง)
-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.7 (คลองเสือข้าม)
-หน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ เช่น แร่ไมก้า
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอากาศค่อนข้างหนาวเย็น อันเนื่องมาจากลิ่มความกดอากาศสูงมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศไทยตอนบนและปกคลุมทั่วประเทศ ลมที่พัดสู่ประเทศไทยในฤดูนี้คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่วงฤดูร้อนเริ่มต้นจากเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อนจัดและมีฝนตกน้อย ทำให้สังคมพืชป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณผลัดใบ สำหรับฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,100 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวอุทยานฯ อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าทั่วไปของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประกอบด้วย
-ป่าเบญจพรรณ จะอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งห้วยและภูเขาที่ไม่สูงนัก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก เสลา ชิงชัน กระบก กระพี้เขาควาย มะค่าโมง งิ้วป่า ประดู่ป่า กาสามปีก ติ้ว ฯลฯ มีไผ่ชนิดต่างๆขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ไผ่ป่า ไผ่ไร่ ไผ่ซางนวล ไผ่รวก พืชพื้นล่าง เช่น หนามเค็ด ส้มเสี้ยว หนามคนฑา เป็นต้น
-ป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่สลับกับป่าเบญจพรรณ พบในช่วงระดับความสูงตั้งแต่ 100-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด มะเกิ้ม ประดู่ มะม่วงป่า มะค่าแต้ พะยอม มะขามป้อม สมอไทย ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่เพ็ก และปรง เป็นต้น
-ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300-1,500 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ก่อใบเลื่อม ก่อเดือย ก่อลิ้น ก่อแอบ ทะโล้ จำปาป่า กะเพราต้น หนอนขี้ควาย กำลังเสือโคร่ง ดำดง กล้วยฤาษี และมะนาวควาย เป็นต้น
-ป่าดิบแล้ง ประกอบด้วย ยางแดง ยางนา กระบาก ตะเคียนหิน ปออีเก้ง สมพง กัดลิ้น มะหาด พลอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและพืชพื้นล่างต่างๆ ที่ทนร่มอีกมากมายหลายชนิด เช่น เข็มขาว หนามคนฑา ว่าน พืชหัวต่างๆ อีกทั้งกล้วยไม้ต่างๆ อีกมากมาย
-ทุ่งหญ้า พบกระจัดกระจายไปตามป่าประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ เกิดจากการทำลายป่าของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ สังคมพืชที่ขึ้นทดแทนในพื้นที่ได้แก่ หญ้าคา หญ้านิ้วหนู เลา สาบเสือ พง แขมหลวง มะเดื่อ ไมยราบเครือ ไมยราบต้น ลำพูป่า หว้า ติ้วแดง งิ้วป่า มะเดื่อหอม เป็นต้น
เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีอาณาเขตติดต่อกับป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งสัตว์สามารถใช้เส้นทางเดินติดต่อกันได้ ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา กระทิง ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว หมีควาย หมีหมา ชะนีธรรมดา ค่างหงอก ลิงกัง อ้นเล็ก กระรอกบินเล็กแกมขาว ค้างคาวปากย่น ไก่ป่า เหยี่ยวรุ้ง นกแว่นสีเทา นกกก นกเงือกกรามช้าง นกปรอดเหลืองหัวจุก นกเขาใหญ่ นกกะเต็นอกขาว นกจาบคาเคราน้ำเงิน นกแซงแซวสีเทา เต่าหก เต่าเหลือง เหี้ย ตะกวด งูเห่า งูแมวเซา ฯลฯ
สถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ
1. แก่งผาคอยนาง-ริมธาร
แก่งผาคอยนาง เป็นแก่งน้ำและแก่งหิน จากถนนคลองลาน-อุ้มผาง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 1,400 เมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก 400 เมตร จะถึงบริเวณแก่งหินขนาดใหญ่ที่มีลำน้ำคลองขลุงไหลผ่าน ซึ่งเป็นลำน้ำสายหนึ่งในหลายๆ สายที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง จากบริเวณแก่งเดินขึ้นไปตามลำน้ำอีกประมาณ 350 เมตร จะถึง น้ำตกผาคอยนาง น้ำตกขนาดเล็กที่เด่นและสะดุดตา มีน้ำตก 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 20 เมตร
2. จุดชมทิวทัศน์กิ่วกระทิง (กม.81)
จุดชมทิวทัศน์กิ่วกระทิง (กม.81) ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 16 กิโลเมตร ในเส้นทางขึ้นสู่ช่องเย็น เป็นจุดชมทัศนียภาพของผืนป่าแม่วงก์ และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม
3. ช่องเย็น
ช่องเย็น (กม.93) เป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน - อุ้มผาง และเป็นจุดสุดท้ายที่ยานพาหนะเข้าถึง ความสูง 1,888 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 20 องศาเซลเซียล จึงถูกขนานนามว่า “ช่องเย็น” ตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากช่องเย็นมีสภาพอากาศที่เย็นและชื้น จึงพบพันธุ์ไม้ที่ชอบความชุ่มชื้นบริเวณนี้ เป็นจุดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีลานกางเต็นท์ให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อน และกิจกรรมดูนก สำหรับผู้ที่ชอบกิจกรรมดูนก เนื่องจากช่องเย็นมีนกสายพันธุ์ที่หลากหลายและหาดูได้ยาก *รองรับกิจกรรมกางเต็นท์ได้ 60 คน
4. แก่งลานนกยูง
แก่งลานนกยูง ตั้งอยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มว.4 (แม่เรวา) อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ มีลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่านตลอดปี บริเวณโดยรอบมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาแน่น บรรยากาศร่มรื่น ทางหน่วยพิทักษ์ได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติแก่งลานนกยูง ระยะทาง 5 กิโลเมตร การเดินทางจากนครสวรรค์-ลาดยาว-สี่แยกเขาชนกัน-บ้านตลิ่งสูง-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มว.4(แม่เรวา)-แก่งลานนกยูง เป็นระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร * ปัจจุบัน ไม่มีกิจกรรมล่องแก่ง
5. ยอดเขาโมโกจู
ยอดเขาโมโกจู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ “โมโกจู” เป็นภาษากระเหรี่ยง แปลว่า “คล้ายว่าฝนจะตก” ยอดเขานี้ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดเวลา ในการเดินทางเพื่อพิชิตยอดเขาโมโกจูต้องใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการฯ ไป-กลับ 4 คืน 5 วัน ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร ระยะทาง 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน 4 คืน มีทั้งความยาก ง่าย ตลอดการเดินทาง ด้วยภูมิประเทศที่หลากหลาย ดังนั้นถ้าได้ตัดสินใจ จะเดินขึ้นยอดโมโกจูแล้ว ก็ต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
6. น้ำตกแม่รีวา
น้ำตกแม่รีวา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ใช้เวลาเดินเท้าจากแคมป์แม่กระสา ไปกลับระยะทาง 8 กิโลเมตร เส้นทางไม่ลำบากมาก มีจุดที่ต้องปีนป่ายเพียงเล็กน้อย สภาพป่าโดยส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ สลับกับดิบแล้ง
7. น้ำตกแม่กี
น้ำตกแม่กี เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีชั้นน้ำตก 6 ชั้น มีความสูงประมาณ 200 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำงานอุทยานฯประมาณ 21 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการฯ ไปกลับ 3 วัน 2 คืน เส้นทางไม่ลำบากมาก มีจุดที่ต้องปีนป่ายเพียงเล็กน้อย สภาพป่าโดยส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ สลับกับดิบแล้ง
8. น้ำตกแม่กระสา
น้ำตกแม่กระสาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดา 3 น้ำตก ใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการฯ ไปกลับ 3 วัน 2 คืน เส้นทางมีจุดที่ต้องปีนป่ายพอสมควร สภาพป่าโดยส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ สลับกับดิบแล้ง
9. ลานกางเต็นท์ขุนน้ำเย็น
ลานกางเต็นท์ขุนน้ำเย็น-อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 24 กิโลเมตร (กิโลที่ 89) เป็นสถานที่กางเต็นท์ เป็นจุดชมอาทิตย์ขึ้น-ตก และสามารถชมทัศนีภาพของป่าดงดิบเขา ได้ 360 องศา
แผนที่กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
สถานที่ติดต่อ : อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กม.ที่ 65 อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 62180
โทรศัพท์ : 061 048 4837 (ที่ทำการและศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแม่วงก์)
061 140 5786 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ มว.4 (แม่เรวา) หรือแก่งลานนกยูง)
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Facebook : อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ Mae Wong National Park
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายคมสัน มณีกาญจน์
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ
ร้านค้าสวัสดิการ
โซนจังหวัดกำแพงเพชร เปิดบริการทุกวันเวลา 08.00 น - 16.30 น.
โซนจังหวัดนครสวรรค์ (หน่วยฯ แม่เรวา) ไม่มีร้านค้า ร้านอาหารสวัสดิการ นักท่องเที่ยวควรจัดเตรียมไป
สัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ : AIS
การเดินทาง : รถยนต์ เดินทางไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จากจังหวัดนครสวรรค์ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงแยกโค้งวิไล บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 307+500 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1242 (ผ่านอำเภอปางศิลาทอง) ไปประมาณ 40 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1072 ไปอีก 10 กิโลเมตร จะพบสี่แยกคลองลาน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1117 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักโซนที่ 1 (โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ) และเป็นเส้นทางไปบ้านพักโซนที่ 2 (โซนช่อง)
ที่พัก - แม่วงก์ 101 (วงก์วนา 3)
- แม่วงก์ 104 (วงก์วนา 5)
- แม่วงก์ 201/1 (ช่องเย็น 1)
- แม่วงก์ 201/2 (ช่องเย็น 1)
- แม่วงก์ 201/3 (ช่องเย็น 1)
- แม่วงก์ 201/4 (ช่องเย็น 1)
- แม่วงก์ 201/5 (ช่องเย็น 1)
- แม่วงก์ 302 (แม่เรวา)
** หมายเหตุ : เมื่อนักท่องเที่ยวจองบ้านพักมาเรียบร้อยแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับกุญแจบ้านพักก่อนที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
หมายเหตุ : เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้ว กรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว
ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ