205108
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
372
736
1108
199775
372
18649
205108

Your IP: 192.168.102.1
2025-07-01 09:34
Visitors Counter
โมโกจู
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
น้ำตกคลองลาน
อุทยานแห่งชาติคลองลาน
น้ำตกเต่าดำ
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
อ่างเก็บน้ำคลองไก่เถื่อน
วนอุทยานห้วยคต
เขาหลวง
วนอุทยานเขาหลวง
ถ้ำประกายเพชร
วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง
เขาหน่อ
วนอุทยานเขาหน่อ-เขาแก้ว
อนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ข้อมูลทั่วไป

     เขาหน่อ – เขาแก้ว เป็นแหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยาอันควรอนุรักษ์ที่มีความโดดเด่น ทางธรณีวิทยาสูงและมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวและสนับสนุนการเรียนรู้ทางธรณีวิทยา ของประชาชนในท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นพื้นที่ไม่ห่างไกลชุมชนและมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงหลายแห่ง นอกจากนี้ยังได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของท้องถิ่นอันควรอนุรักษ์ ในปีแห่งการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, 2543)

     จากหลักฐานในพระราชนิพนธ์ เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสเขาหน่อ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร ทรงพระดำเนินขึ้นเขาโดยจัดขบวนเสด็จเริ่มต้นที่วัดบ้านแดน ระหว่างทางทหารได้ถ่ายรูปเส้นทางเสด็จประพาส บ้านเรือนราษฎร ทิวทัศน์ของยอดเขาหน่อ ภาพฐานพระเจดีย์ซึ่งอยู่บนยอดเขาพระนางพันธุรัตน์ ลานร่มไม้หน้าเขาหน่อ ทางขึ้นถ้ำและหน้าถ้ำพระนอน ซึ่งภายในประดิษฐานพระนอน และพระพุทธรูปขนาดเล็กหลายองค์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระพันปีหลวง เสด็จประพาสเขาหน่อทรงจารึกอักษรพระนามย่อ ส.ผ. ไว้เหนือปากถ้ำพระนอนหรือถ้ำพระพุทธไสยาสน์ในปัจจุบัน เขาหน่อจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ การประกาศพื้นที่เขาหน่อ-เขาแก้ว เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะเป็นการช่วยสนับสนุนในการดูแลรักษาพื้นที่โบราณสถานวัดเขาหน่อ ต่อไป

    การใช้ประโยชน์ที่ผ่านมาทำให้แหล่งธรณีสัณฐานประเภทถ้ำเสื่อมโทรม ประกอบกับการมีระบบการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมเพียงพอ ส่งผลให้แหล่งธรรมชาติซึ่งมีคุณค่าทางธรณีวิทยาถูกละเลยจนเสื่อมโทรม นอกจากนี้รูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบันของชุมชนยังมุ่งเน้นการให้อาหารแก่ลิงเป็นหลัก ส่งผลให้พฤติกรรมของลิงเปลี่ยน การกำหนดพื้นที่บริเวณนี้เป็นวนอุทยาน เพื่อจะได้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งด้านการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติและการจัดการสัตว์ป่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง

    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับแจ้งเหตุ “สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362” (แบบ สดป.01) แจ้งการรับแจ้งเหตุเกี่ยวกับปัญหาฝูงลิง ที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนบริเวณเขาหน่อ-เขาแก้ว หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเกรงว่าจะทำร้ายนักท่องเที่ยว และผู้แจ้งมีความประสงค์ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาโดยด่วนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นให้ประกาศจัดตั้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อจะได้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งด้านการท่องเที่ยว ศึกษาธรรมชาติ และการจัดการสัตว์ป่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

    เขาหน่อ-เขาแก้ว ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ที่ยังคงสภาพป่า ประมาณ 1,114 ไร่ เป็นกลุ่มยอดเขาหินปูน รูปทรงสวยงามแปลกตา สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนบนถนนพหลโยธิน ช่วงจังหวัดนครสวรรค์ – กำแพงเพชร

ลักษณะภูมิประเทศ

     เขาหน่อ–เขาแก้ว มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนที่มีแนวทอดยาวจากทางด้านเหนือไปสู่ด้านใต้ พื้นที่โดยรอบติดกับพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน เขาหน่อ เขาแก้ว ถูกแยกออกจากกัน ดังนี้

     เขาหน่อ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

       - เขานางพันธุรัต เป็นภูเขาหินปูนลูกเล็ก อยู่ทิศเหนือของพื้นที่เขาหน่อ เขาแก้ว มียอดเขาสูงสุด 137 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

       - เขาพระพุทธบาท เป็นภูเขาหินปูนอยู่ทางทิศใต้ของเขานางพันธุรัต มียอดเขาสูงสุด 238 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

     เขาแก้ว เป็นภูเขาหินปูนทอดยาว อยู่ทางทิศใต้ของพื้นที่ ถูกแบ่งจากเขาหน่อ โดยทางหลวงหมายเลข 3491 มียอดเขาสูงสุด 314 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

 

ลักษณะภูมิอากาศ

       ลักษณะภูมิอากาศบริเวณ เขาหน่อ–เขาแก้ว โดยทั่วไปเป็นแบบมรสุมเขตร้อน โดยในฤดูฝน มีฝนตกชุกปานกลาง ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างเย็นในบริเวณใกล้ภูเขา ส่วนฤดูร้อน อากาศจะร้อนมากถึงร้อนจัด และมีลมพายุรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 29 - 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายนประมาณ 40 องศาเซลเซียส อากาศเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยในเดือนกันยายนจะมีฝนตกมากที่สุด

แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการ

       1. เขานางพันธุรัต เป็นเขาลูกเล็กที่สามารถเดินขึ้นไปชมวิวบนยอดเขา ทางขึ้นอยู่บริเวณ วัดเขาหน่อ นักท่องเที่ยวสามารถนำรถไปจอดยังจุดจอดรถของวัดเขาหน่อ ซึ่งมีประตูและกรงปิดมิดชิด เพื่อป้องกันลิง ทางขึ้นมีบันไดอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง เส้นทางร่มรื่น ใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาที ระหว่างทางจะพบถ้ำขนาดเล็กแห่งหนึ่ง เรียกว่า ถ้ำพระนอน ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ ด้านหลังสามารถเดินเข้าชมภายในถ้ำได้ ภายในถ้ำมืดและค่อนข้างชื้น หากต้องการเดินชม ควรใช้ไฟฉายในการนำทาง โดยสามารถเดินทะลุไปยังบันไดที่ขึ้นไปชมวิวได้ ทิวทัศน์ด้านบนมีความสวยงาม สามารถมองเห็นยอดเขาหน่อ

    2. เขาพระพุทธบาท อยู่ห่างจากเขานางพันธุรัตประมาณ 300 เมตร ทางขึ้นอยู่บริเวณโรงเรียนวัดเขาหน่อ ซึ่งในปัจจุบันมิได้เปิดทำการเรียนการสอนแล้ว ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองและเจดีย์เก่าแก่อายุประมาณ 400 ปี สามารถชมวิวได้ 360 องศา การเดินขึ้นสู่ยอดเขาต้องเดินไปตามบันได 700 ขั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที ด้วยเส้นทางที่ท้าทาย และวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวที่ชอบแนวผจญภัยให้ความสนใจมาพิชิตยอดเขาหน่อ

    3. เขาแก้ว มีกิจกรรมชมค้างคาวบินออกหากินจากปากถ้ำ โดยจะเริ่มออกหากินในเวลาประมาณหกโมงเย็น พบเห็นเป็นสายยาวออกมาจากปากถ้ำบนเขาแก้ว สร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้ที่มารอชม โดยบรรยากาศตอนเย็นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและพ่อค้า แม่ค้า และร้านค้าไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว

 

 

ข้อมูลทั่วไป

   วนอุทยานถ้ำเขาวงอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยท่ากวยและป่าห้วยกระเวน มีเนื้อที่ประมาณ 8,125 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2544 ต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่ากวย และป่าห้วยกระเวน ในท้องที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ 9,000 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 290 ง วันที่ 14 ธันวาคม 2563

 

ขนาดพื้นที่

   9,000 ไร่ 

ลักษณะภูมิประเทศ

   เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เขาช่องลม เขารูปช้างมีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ ความสูงของยอดเขาที่สูงที่สุด 637 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยภูเขาทั้งสองนี้แยกจากกันและระหว่างเขามีพื้นที่ราบสูงประมาณ 1,000 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของวนอุทยานเป็นภูเขาสูงชันประมาณ 35 % สภาพป่าบนยอดเขายังอุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด และยังเป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยหมอโค้ ซึ่งไหลผ่านอำเภอบ้านไร่ บริเวณเขาช่องลมจะมีน้ำไหลตลอดปี

ลักษณะภูมิอากาศ

    ฤดูร้อนและในฤดูหนาว ความแตกต่างของอุณหภูมิตั้งแต่ 6 – 43 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26 – 28 องศาเซลเซียส

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

   พื้นที่บริเวณเขารูปช้างและเขาช่องลม เป็นป่าเบญจพรรณเกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณยอดเขาเป็นป่าโป่งผสมผลัดใบหลายชนิด บริเวณใกล้ ๆ ยอดเขาเป็นป่าเบญจพรรณ มีป่าเบญจพรรณชื้นเป็นหย่อม ๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ไม้มะค่าโมง สลอง ตะแบก เสลา ประดู่ แดง ชิงชัน หว้า พฤกษ์ พะยอม แคทราย ตะกร้อ มะกล่ำ มะแฟน กระพี้จั่น เปล้า ส้าน เพกา เป็นต้น พบป่าดิบแล้งบริเวณร่องเขาหรือหุบเขาริมลำห้วยในฤดูฝนจะมีสภาพเป็นป่าดิบชื้น มีไม้พื้นล่างขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่นได้แก่ ไม้ล้มลุกหลายชนิด เถาวัลย์ กล้วยไม้ เฟิร์น ไผ่ซาง ไผ่ป่า ไผ่นวล สมุนไพรที่พบด้แก่ รางจืด ซึ่งใช้สำหรับถอนพิษไข้และอาการเบื่อมา สมุนไพรชนิดอื่น ๆ เช่น ยาข้าวเย็นเหนือ หางไหลแดง หางไหลขาว รางแดง ช้าพลู สะค้าน บอระเพ็ด กลิ้งกลางดง สบู่เลือด มะเกลือ กระทือ เอื้อง เพกา ใบมะกา ข่อย โคคลาน สุรารำพา เป็นต้น

          ปัจจุบันยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่บนเขาหลายชนิด เช่น เลียงผา อีเห็น หมูป่า ไก่ป่า แย้ ไก่ฟ้า ลิง เก้ง ตะกวด นิ่ม ชะมด พังพอน กระรอก กระแต กระต่ายป่า ตุ่น อ้น ค้างคาว และงูหลายชนิด เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยวในวนอุทยาน

1. ถ้ำพุหวาย

   ถ้ำพุหวาย เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำกว้างขวาง มี หินงอกหินย้อย เช่น รูปเจดีย์ อ่างน้า ทางเข้าถ้าอยู่ บนไหล่เขาต้องเดินขึ้นไป อากาศถ่ายเทได้สะดวก มี โพรงทะลุถึงด้านตรงข้ามของภูเขา มีค้างคาวอาศัย อยู่ 9 ชนิด ถ้ำใช้เวลา เดิน 1 ชั่วโมง ทางด้านหลังของถ้ำพุหวาย มีถ้ำเทพมาลี หรือ ถ้ำพญานาค เป็นถ้ำขนาดเล็กค่อนข้างลึก มีหินงอกหินย้อยยอดเขาพุหวายสูง 700 เมตรจาก ระดับน้ำทะเล สามารถมองเห็นทัศนียภาพกว้างไกล บนสันเขาเป็นป่าเต็งรังที่ค่อนข้างสมบูรณ์

สถานที่ติดต่อ : วนอุทยานถ้ำเขาวง ตั้งอยู่ที่บ้านหินตุ้ม หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

พิกัดที่ทำการฯ : 15.0130133,99.4431923

หัวหน้าวนอุทยาน : นายงามพล เลิศดุลย์

ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ

โทรศัพท์ : 082-164-6274

การเดินทาง

  จากจังหวัดกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 340 ไปทางจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนถึงทางแยกเข้าจังหวัดสุพรรณบุรี ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 357 (ถนนเลี่ยงเมือง) ไปราว 14 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3264 ไปจนถึงแยกสระกระโจน แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 333 ผ่านอำเภอด่านช้าง ไปราว 37 กม. ถึงสามแยกด่านช้าง ให้แล้วซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3011 ผ่านทางโค้งศาลเจ้าพ่อเขารัก แล้วมาตัดกับสามแยกให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงท้องถิ่นสายบ้านไร่ - บ้านอีหลุบ ระยะทาง 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายสู่เขาวงไปตามเส้นทาง ร.พ.ช. ผ่านวัดถ้ำเขาวง และสิ้นสุดที่เขาช่องลม บริเวณถ้ำพุหวาย รวมระยะทางจาก จังหวัดกรุงเทพฯ ถึงวนอุทยานถ้ำเขาวง ประมาณ 230 กิโลเมตร

  จากจังหวัดอุทัยธานี ตามทางหลวงหมายเลข 3011 ถึงอำเภอบ้านไร่ ผ่านทางโค้งศาลเจ้าพ่อเขารัก แล้วมาตัดกับสามแยกให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงท้องถิ่นสายบ้านไร่ - บ้านอีหลุบ ระยะทาง 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายสู่เขาวงไปตามเส้นทาง ร.พ.ช. ผ่านวัดถ้ำเขาวง และสิ้นสุดที่เขาช่องลม บริเวณถ้ำพุหวาย รวมระยะทางจากจังหวัดอุทัยธานี 45 กิโลเมตร

 

  

 

ข้อมูลทั่วไป

         วนอุทยานเขาหลวง อยู่ในท้องที่ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง มีเนื้อที่ประมาณ 59,375 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539

       ต่อมาในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง และป่าเขาหลวง แปลงที่สอง ในท้องที่ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว ตำบลหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ ตำบลบางประมุง ตำบลนากลาง ตำบลศาลาแดง ตำบลเนินศาลา อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ และตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างอารมณ์ ตำบลโคกหม้อ ตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลเขาขี้ฝอย อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ 49,500 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 301 ง วันที่ 24 ธันวาคม 2563

ขนาดพื้นที่

   49,500 ไร่ 

ลักษณะภูมิประเทศ

    เป็นภูเขาสูงชัน ตั้งอยู่โดดเดี่ยวบนพื้นที่ราบทางทิศตะวันตกของจังหวัดนครสวรรค์ มียอดเขาหลวงเป็นยอดเขาสูงสุดสูง 772 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยอดเขาเขียวเป็นยอดเขาสูงรองลงมาสูง 762 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูน สูงสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชันมากกว่า 35% ป่าบนยอดเขามีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของคลองวังม้าและคลองบางละมุงในเขตจังหวัดนครสวรรค์

ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศ

         มี 3 ฤดู คือ

         ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม

         ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน

         ฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม - มกราคม

สถานที่ท่องเที่ยวในวนอุทยาน

1. ถ้ำธารทิพย์ 

    ถ้ำธารทิพย์ อยู่ในวนอุทยานเขาหลวงและห่างจากสำนักงานวนอุทยานประมาณ 300 เมตร

2.  ถ้ำบ่อยา

     ถ้ำบ่อยา เป็นถ้ำหินปูนที่ได้รับ ยกย่องว่าสวยที่สุดของจังหวัดนครสวรรค์ โดยคุณจะต้องเดินขึ้นบันได 211 ขั้นในระยะทาง 300 เมตรเพื่อไปให้ถึงตัวถ้ำ เมื่อไปถึงแล้วจะพบว่าภายในนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 เป็นที่ตั้งของพระประธานองค์ใหญ่ ช่วงที่ 2 คือทางตันที่อยู่ลึกเข้าไป แต่ตรงนี้จะมีบ่อน้ำทิพย์ที่ชาวบ้านถือว่า เป็นบ่อยาศักดิ์สิทธิ์ ช่วงที่ 3 คือปากถ้ำอันเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง

3.  ยอดเขาหลวง

    ยอดเขาหลวง เป็นยอดสูงสุดของเทือกเขาหลวง มีส่วนเป็นที่ราบ สามารถพักค้างแรมได้มีลมพัดคลอดเวลา อากาศเย็นสบายและยังมีจุดชมวิวซึ่งสามารถมองเห็นตัวเมืองในอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีบ่อขุดทองคำขนาดใหญ่จำนวน 1 บ่อและบ่อเล็กประมาณ 20 บ่อ ซึ่งราษฎรได้เข้ามาตามลายแทงเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว บนยอดเขายังพบบ่อน้ำซับหลายแห่งชาวบ้านเรียก “สระแก้ว” โดยมีความเชื่อว่าน้ำในบ่อสามารถรักษาโรคได้ ขึ้นไปยอดเขาจะต้องใช้เวลาเดิน 3 - 4 ชั่วโมง

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

มี 4 เส้นทาง
1. เส้นทางศีกษาธรรมชาติ ระยะทางไป-กลับ  1.5  กิโลเมตร ระยะเวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง    
2.
 เส้นทางศีกษาธรรมชาติ ระยะทางไป-กลับ  3 กิโลเมตร ระยะเวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง    
3. เส้นทางศีกษาธรรมชาติถ้ำธารทิพย์ ระยะทางไป-กลับ 300 เมตร ระยะเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง    
4. เส้นทางศีกษาธรรมชาติ ระยะทางไป-กลับ  7  กิโลเมตร ระยะเวลาเดินทาง 2 วัน 1 คืน  จำนวนนักท่องเที่ยว 15 คน/รอบ นักท่องเที่ยวต้องจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์  โทร. 081-532 8773

สถานที่ติดต่อ :  ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

พิกัดที่ทำการฯ : 15.71231503 , 99.94745082

หัวหน้าวนอุทยาน : นายธิติพล ดวงแก้ว

ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน

โทรศัพท์ : 081-532-8773

การเดินทาง 

         รถยนต์  เดินทางจากจังหวัดนครสวรรค์ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร) ถึงตลาดหนองเบน ระยะทาง 17 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1072 (สายอำเภอลาดยาว) ถึงแยกเข้าวัดศรีอุทุมพร ระยะทาง 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวัดศรีอุทุมพรอีก 7 กิโลเมตร ก็จะถึงวนอุทยานเขาหลวง รวมระยะทางจากจังหวัดนครสวรรค์ถึงวนอุทยานเขาหลวงเป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร

 

 

ข้อมูลทั่วไป

      มีประวัติการค้นพบศรโบราณบริเวณเขาชอนเดื่อแห่งนี้ ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2453 ครั้งหลวงพ่อรุ่ง ฆคสุวฺณโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองตานวล (วัดหนองสีนวล) ได้นำศรเครื่องสัมฤทธิ์ มีหัวคันศรเป็นนาคราช 3 เศียร มีสายและลูกพร้อม ซึ่งได้มาจากเขาชอนเดื่อ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และทรงพระราชทานนามศรโบราณนี้ว่า “พระแสงศรกำลังราม” และมีตำนานเล่าว่าที่เชิงเขาด้านทิศตะวันตกมีถ้ำพญานาค ภายในถ้ำมีบ่อน้ำที่ไม่เคยแห้งเหือด ชาวบ้านเขตพื้นที่ใกล้เคียงได้อาศัยเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ห่างจากถ้ำพญานาคไปประมาณ 400 เมตร พบแหล่งน้ำซับที่ไหลออกบริเวณโคนต้นมะเดื่อ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เขาชอนเดื่อ”

        พื้นที่บริเวณเขาชอนเดื่อและเขาขวาง ในเขตท้องที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี และตำบลหนองพิกุล อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่รวม 4,659 ไร่ ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2540 โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

        ต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ในท้องที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี และตำบลหนองพิกุล ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ 4,703 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 290 ง วันที่ 14 ธันวาคม 2563

ขนาดพื้นที่

     4,703 ไร่ 

ลักษณะภูมิประเทศ

      พื้นที่วนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนโดดเดี่ยว มีทิวทัศน์สวยงาม ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะ มีความสูงชันและแสดงหน้าผาชัดเจน โดยมีความสูง 80 - 373 เมตร จากระดับ น้ำทะเลปานกลาง มีความโดดเด่นของลักษณะภูมิประเทศแบบคาร์ส (karst) โดยน้ำจะชะละลายหินปูนออกไปจนมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำเต็มไปด้วยหลุมบ่อ เกิดถ้ำและทางน้ำใต้ดิน ในพื้นที่วนอุทยานพบถ้ำหลายแห่ง มีลักษณะสภาพเป็นธรรมชาติมาก มีการสะสมตัวของตะกอนถ้ำหรือแร่แคลไซต์ให้ลักษณะหินงอกหินย้อย หลอดหินย้อย หินปูนฉาบหรือหินน้ำไหลสวยงามมาก ในบางบริเวณยังพบซากบรรพชีวินชนิดต่างๆ เช่น ฟิวซูลินิด (fusulinids) ไครนอยด์ แบรคิโอพอต ปะการัง และสาหร่าย ซึ่งแสดงถึงการสะสมตัวของหินปูนในเขตทะเลน้ำตื้น เหมาะสมเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาสำหรับเยาวชน

ลักษณะภูมิอากาศ

     ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยในฤดูฝนมีฝนตกชุกปานกลาง ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างเย็นในบริเวณใกล้ภูเขา ส่วนฤดูร้อนอากาศจะร้อนมากถึงร้อนจัด และมีลมพายุรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 29 - 30 องศาเซลเซียส

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

    ชนิดป่าที่ปรากฏในวนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง บริเวณพื้นที่เขาชอนเดื่อและเขาขวาง สามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิดป่าหลัก คือ ป่าเบญจพรรณ และป่าละเมาะเขาหินปูน ดังนี้

   1. ป่าเบญจพรรณ สังคมพืชป่าเบญจพรรณที่พบในพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณแล้งบนภูเขาหินปูน ที่ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม - เมษายน) ต้นไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบทำให้เรือนยอดของป่าโปร่งมาก เมื่อเข้าฤดูฝนต้นไม้จึงเริ่มผลิใบใหม่ และป่าจะคืนความเขียวขจีอีกครั้ง พันธุ์ไม้ที่พบทั่วไปได้แก่ กะเจียน ขี้หนอน แคหางค่าง งิ้วป่า แจง ตะโกนา ตะคร้ำ ตะคร้อ ตะแบกเกรียบ ตานดำ ปรู๋ มะกอก ยอเถื่อน สมอร่อง สวอง และไผ่รวก สภาพป่าพื้นล่างโดยทั่วไปจะมีไม้พุ่ม ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก และลูกไม้ของไม้เรือนยอดปกคลุมห่างๆ เช่น ขันทองพยาบาท คนทา น้ำใจใคร่ จันทนา มะลิวัลย์เถา โมกเครือ พืชวงศ์กลอย วงศ์ขิงข่า และวงศ์บุก เป็นต้น

    2. ป่าละเมาะเขาหินปูน จะพบบนโขดเขาหินปูนที่แห้งแล้ง หรือพื้นที่ที่เป็นหุบเหวค่อนข้างชื้น มักพบสังคมพืชที่มีลักษณะพิเศษเป็นหย่อมเล็กๆ ปรับตัวขึ้นอยู่ตามภูเขาหินปูนที่ไม่ปรากฏชั้นดินชัดเจน พันธุ์ไม้ที่พบมักทนความแห้งแล้งได้ดี มีใบหนาอุ้มน้ำ หรือลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมคม เช่น กล้วยผา ขี้เหล็กฤๅษี จันทน์ผา สลัดไดเขา และสลัดไดป่า เป็นต้น ซึ่งพันธุ์ไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบช่วงฤดูแล้ง ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นมีระบบรากที่แข็งแรง สามารถแทรกลงไปยึดเกาะในร่องบริเวณรอยแตกของหินปูน พืชล้มลุกส่วนใหญ่จะมีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง พืชเด่นที่พบได้แก่ กระท่อมเขา ตะคร้ำหิน แคสันติสุข โมกราชินี ปอฝ้าย สมพง และพืชสกุลไทร ในพื้นที่สองข้างทางเปิดใหม่จะพบปอขาว มะกัก และยาบขี้ไก่ เป็นไม้ยืนต้นเบิกนำ พืชล้มลุกอื่นๆ ที่พบ เช่น ชมลมหินดอกแดง พลูช้าง และผักสาบ ส่วนพันธุ์ไม้ที่พบบริเวณไหล่เขาและหุบเขาที่มีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูง ได้รับแสงแดดไม่จัดนัก และมีชั้นดินหนา จะพบพันธุ์ไม้หลากชนิดกว่า พืชเด่นที่พบได้แก่ กระเบากลัก กระชิด ทลายเขา ช้องรำพัน ตาตุ่มบก เทียนขโมย สองกระดองหิน พญารากดำ  พุดผา และฝิ่นแดง ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และพืชล้มลุกอื่นๆ ที่พบ เช่น ผักหวานเมา กระแตไต่หิน หูหมี ชายผ้าสีดา บุกก้านยาว และชำมะนาดเล็ก เป็นต้น

สัตว์ป่า

      จากข้อมูลการสำรวจ การสอบถามจากเจ้าหน้าที่และราษฎรในพื้นที่วนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง พบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 27 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด และสัตว์ปีก พบจำนวน 105 ชนิด ซึ่งมีลิ่นชวา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endanger) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับโลกของ IUCN (version 2013.2) อึ่งปากขวด เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับประเทศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2540) และตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับโลกของ IUCN (version 2013.2)   งูจงอาง เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับโลกของ IUCN (version 2013.2) และมีนกแสก เป็นสัตว์ปีกที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) และมีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับประเทศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2540) 

สถานที่ท่องเที่ยวในวนอุทยาน

1. ถ้ำวังไข่มุก

   ถ้ำวังไข่มุก อยู่ทางด้านทิศเหนือของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 200 เมตร ภายในมีห้องโถง 4 ห้อง ได้แก่ ห้องเหล็กไหล ห้องวังบาดาล ห้องโถง และห้องวังไข่มุก โดยเฉพาะห้องวังไข่มุก จะมีหินงอกหินย้อยสีขาวราวกับไข่มุกประดับประดาด้วยเกล็ดเพชร ส่องแสงเป็นประกายสวยงาม 

2. ถ้ำประดับเพชร

    ถ้ำประดับเพชร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 200 เมตร ภายในมีห้องโถง 4 ห้อง มีหินงอกหินย้อยสีน้ำตาลอ่อนถึงเทานวลที่มีแสงสะท้อนระยิบระยับของเกล็ดเพชร ประกอบกับมีประติมากรรมหินงอกหินย้อยหลากหลาย เช่น หินรูปพระพิฆเนศ หินรูปเจ้าแม่กวนอิม หินรูปมนุษย์ยักษ์ และหินรูปนางอาย เป็นต้น

3. ถ้ำมรกต

    ถ้ำมรกต อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 350 เมตร ทางลงถ้ำเป็นบันไดเหล็กมีความลึกประมาณ 15 เมตร ภายในจะพบกับประติมากรรมหินย้อยขนาดใหญ่สีเขียวเข้มลอยเด่นตระการตากลางห้องโถงใหญ่ และมีห้องเล็กๆ 1 ห้อง ภายในมีหินงอกหินย้อยประดับด้วยแสงระยิบระยับของเกล็ดเพชร

 

4.  ถ้ำประกายเพชร

    ถ้ำประกายเพชร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 200 เมตร ภายในมีห้องโถง 4 ห้อง มีหินงอกหินย้อยสีน้ำตาลอ่อนถึงเทานวลที่มีแสงสะท้อนระยิบระยับของเกล็ดเพชร ประกอบกับมีประติมากรรมหินงอกหินย้อยหลากหลาย เช่น หินรูปพระพิฆเนศ หินรูปเจ้าแม่กวนอิม หินรูปมนุษย์ยักษ์ และหินรูปนางอาย เป็นต้น

5.  ถ้ำเพชรคิงคอง

    ถ้ำเพชรคิงคอง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 900 เมตร ภายในมีห้องขนาดเล็ก 4 ห้องย่อย มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ประดับประดาไปด้วยหินงอกหินย้อยสีขาวปนเทา ที่บริเวณกลางห้องโถงใหญ่จะมีประติมากรรมหินงอกคล้าย “คิงคองยักษ์” ตั้งตระหง่านกลางโถงถ้ำเป็นที่แปลกตาและน่าเกรงขาม

6.  ถ้ำวิมานลอย

    ถ้ำวิมานลอย อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 1,200 เมตร ภายในมีห้องขนาดเล็ก 4 ห้องย่อย ห้องวิมานลอยจะเป็นห้องโถงย่อยขนาดเล็ก ที่ยกระดับขึ้นเป็นอีกห้องหนึ่ง ภายในมีประติมากรรมหินงอกหินย้อยที่สวยงามเปรียบได้กับชั้นวิมาน นอกจากนี้  ยังพบซากบรรพชีวินไครนอยด์ (Crinoid stem) หลากหลายขนาดตามผนังถ้ำของห้องโถงย่อยใกล้ทางออก ไว้ให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้

สถานที่ติดต่อ :  ตั้งอยู่ที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

พิกัดที่ทำการฯ : 15.3050048 , 100.39404969

หัวหน้าวนอุทยาน : นายยุทธนา ทองบุญเกื้อ

ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ

โทรศัพท์ : 097-238-3590

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

รถยนต์
     
  เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ตามถนนสายเอเชีย เลี้ยวซ้ายเข้าสู่จังหวัดชัยนาท แล้วกลับรถมุ่งหน้าตามถนนพหลโยธิน สู่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ขับผ่านอำเภอตาคลีไปประมาณ 7 กิโลเมตร สังเกตหลักกิโลเมตรที่ 248 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายรอง (พหลโยธิน - บ้านสระแก้ว) ระยะทาง 500 เมตร ถึงที่ทำการวนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง


รถไฟ
         ทางรถไฟสายเหนือ กรุงเทพ - เชียงใหม่ แล้วลงสถานีอำเภอตาคลี แล้วไปขึ้นรถโดยสารหรือรถรับจ้างไปถ้ำเพชร - ถ้ำทอง ประมาณ 12 กิโลเมตร

 

 

ข้อมูลทั่วไป

   ในอดีตพื้นที่ป่าแห่งนี้ มีพันธุ์ไม้ยางนาทีขึ้นตามธรรมชาติ ปกคลุมพื้นที่อยู่อย่างหนาแน่น นับเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์มากของจังหวัดพิจิตร ซึ่งในขณะนั้นมีราษฎรกลุ่มหนึ่งได้จับจอง โดยใช้สิทธิครอบครองพื้นที่ป่าแห่งนี้เพื่อประโยชน์ในการเจาะน้ำยาง การเจาะน้ำมันยางดังกล่าวกระทำเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี ต่อมามีราษฎรต่างถิ่นและใกล้เคียงบางกลุ่ม เข้ามาลักลอบตัดไม้ยางนาเพื่อประโยชน์ใช้สอยและเพื่อการค้า ต่อมาลักลอบตัดไม้รุนแรงมากขึ้น เพื่อต้องการอนุรักษ์ไม้ยางนาขนาดใหญ่ไว้ทำให้กลุ่มราษฎรจึงร้องขอให้ทางราชการ โดยกรมป่าไม้เข้ามาควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 พื้นที่ป่าแห่งนี้ก็ได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 155 ให้ชื่อว่า “ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองดง” และวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2532 กรมป่าไม้ได้อนุมัติประกาศจัดตั้งวนอุทยานขึ้นมาครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองดงและให้ชื่อว่า “วนอุทยานนครไชยบวร” ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่นครไชยบวร อันเป็นชื่อเมืองเก่าของอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2532 กรมป่าไม้ได้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน

     และในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองดง ในท้องที่ตำบลท่าเสา อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตรให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ 1,142 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 301 ง วันที่ 24 ธันวาคม 2563

ขนาดพื้นที่

   1,142 ไร่ 

ลักษณะภูมิประเทศ

      เป็นพื้นที่ราบถึงที่ราบลุ่ม ปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด มีไม้เด่น คือ ไม้ยางนาธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ภายในพื้นที่ประกอบด้วยหนองน้ำและลำห้วยหลายสายกระจายทั่วพื้นที่ หนองน้ำสำคัญ ได้แก่ หนองมาบคล้า และหนองสะตือ

ลักษณะภูมิอากาศ

         อยู่ในเขตอุณหภูมิภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะอากาศร้อน และมีฝนตกชุก

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า 

          เป็นป่าไม้ยางนาธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม้ยางมีขนาดใหญ่ โดยเฉลี่ย 200-300 เซนติเมตร อยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นกลุ่มทั่วพื้นที่ ไม้พื้นล่างเป็นไม้ไผ่ชนิดต่างๆ โดยสามารถจำแนกสังคมพืชได้เป็น 3 ประเภท คือ

          1. ป่าที่ครอบคลุมด้วยพันธุ์ไม้ยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb.) จัดเป็นประเภทป่าที่มีลักษณะเฉพาะปกคลุม ไม้ยางขนาดใหญ่และพันธุ์พืชชนิดอื่นขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ต่อมามีการลักลอบตัดไม้และทำลายป่ารุนแรงขึ้น ทำให้สภาพป่าโปร่งขึ้น แสงแดดส่องได้ถึงพื้นล่างมากขึ้น มีผลทำให้ความชื้นของบรรยากาศในป่าและความชื้นของดินลดน้อยลงเมื่อถึงในหน้าแล้ง ทำให้หนองน้ำและในห้วยซึ่งในอดีตไม่เคยแห้งต้องเดือดแห้งลงทุกขณะ ทำให้สภาพพื้นที่แปรเปลี่ยนเป็นเช่นปัจจุบัน พันธุ์ไม้ที่สำรวจพบ ได้แก่ ไม้ยางนา เป็นไม้ขนาดใหญ่ จากการสำรวจพบไม้ยางนาขนาดเส้นรอ ตั้งแต่ 80 เซนติเมตร ขึ้นไปมีจำนวนมากกว่า 1,200 ต้น และยังพบลูกไม้ยางนาที่มีความสูงไม่เกิน 1 เมตร อีกเป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ป่า นอกจากนั้นในป่าประเภทนี้ยังพบพันธุ์ไม้อื่นๆ ขึ้นปะปนกับไม้ยางนา ได้แก่ ไม้ตะแบก ทองกวาว คูณ เสี้ยว จามจุรี รัก กร่าง หว้า มะเกลือ คาง หวาย เป็นต้น

          2. ป่าละเมาะหรือป่าต่ำ เป็นป่าที่เกิดจากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ถูกตัดฟันจนบางเบาหรือไม่มีเหลืออยู่เลย จึงมีเพียงไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นมาทดแทน และเนื่องจากไม่มีไม้ขนาดใหญ่ให้ร่วมเงา แสงแดดจึงส่องได้ถึงพื้นดิน ทำให้ดินขาดความชุ่มชื้นและขาดความสมบูรณ์พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่บางชนิดจึงมีลักษณะแคระแกรน ลำต้นและเรือนยอดมีขนาดเล็ก ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ ตะแบก มะเดื่อ ยอป่า ตะโก มะเกลือ งิ้วป่า สะแกนา มะกอก เป็นต้น อนึ่งสภาพป่าประเภทนี้ (ป่าละเมาะหรือป่าต่ำ) จัดเป็นแหล่งอาศัยทำรัง หลับนอนและหากินของนกหลายๆ ชนิด เช่น นกแขวก นกตบยุง นกเขาใหญ่ เป็นต้น

          3. ป่าไผ่ ป่าประเภทนี้ พบกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จัดเป็นป่าขนาดต่ำ มีพันธุ์ไม้ไผ่ป่า (Bambusa arundinacea) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ป่าประเภทนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของไก่ป่าและนกหลายชนิด ที่ใช้บริเวณพื้นที่สำหรับหากินทำรังวางไข่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพบป่าชนิดนี้บริเวณลำห้วย

          สัตว์ป่า ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็กที่สำคัญ และน่าสนใจโดยแยกเป็น 5 ประเภท คือ

                  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า พังพอน นิ่มหรือลิ้น กระแต กระจ้อน เป็นต้น

                  สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่า งูชนิดต่างๆ ตะกวด เหี้ย เป็นต้น

                  สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ กบ เขียด ปาด เป็นต้น

                  ปลา ได้แก่ ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุก เป็นต้น และสัตว์ที่พบมากในพื้นที่ คือ ไก่ป่า (Red jungle Fowl)

                  สัตว์ปีก โดยในเขตวนอุทยานฯ พบนกชนิดต่างๆ อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่มากมายหลายชนิด สามารถเป็น 2 ประเภท คือ “นกประจำถิ่น” ได้แก่ นกแขกเต้า นกตะขาบทุ่ง นกแขวก นกยางบางชนิด นกกระจิบ นกกระจอก และนกปรอด เป็นต้น และ “นกอพยพ” โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะพบนกชนิดต่างๆ อพยพเข้ามาหากินมากมาย เช่น นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกนางแอ่นบางชนิด นกเป็ดน้ำ นกเหยี่ยวบางชนิด เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยว

     1. ป่ายางนาธรรมชาติ สภาพป่าเป็นป่าธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่มีไม้ยางนาขึ้นอยู่มาก จึงเป็นแหล่งเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ยางที่สำคัญ และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติที่ดีมากอีกแห่งหนึ่ง

สถานที่ติดต่อ : ตั้งอยู่ที่ 65/1 หมู่ 2 ตำบลท่าเสา อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

พิกัดที่ทำการฯ : 15.96935793 , 100.2257646

หัวหน้าวนอุทยาน : นายธิติพล ดวงแก้ว

ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน

โทรศัพท์ : 081-532-8773

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

การเดินทาง

      รถยนต์ จากจังหวัดพิจิตรเดินทางโดยรถยนต์โดยสารประจำทางถึงอำเภอโพทะเล ระยะทาง 63 กิโลเมตร เป็นทางหลวงแผ่นดินลาดยางโดยตลอด และจากอำเภอโพทะเลถึงวนอุทยานนครไชยบวรเป็นเส้นทาง ร.พ.ช. (ถนนลูกรัง) ระยะทาง 18 กิโลเมตร รวมระยะทั้งหมด 81กิโลเมตร หรือเดินทางจากนครสวรรค์ โดยเส้นทางหลวงสาย นครสวรรค์-พิษณุโลก ระยะทาง 33 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทาง ร.พ.ช.สายบ้านหนองกรด-บ้านยางเพนียด-บ้านท่าเสา อีก 15 กิโลเมตร รวมระยะทาง 48 กิโลเมตร