ประวัติความเป็นมา
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-Hunting Area) เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย แต่เดิมต้องการ มุ่งเน้นที่การคุ้มครองเฉพาะสัตว์ป่าบางชนิด (พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503) สำหรับในปัจจุบันมีเจตนาที่จะคุ้มครองทั้งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าควบคู่กันไป (พระราชบัญญัติและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562) ซึ่งจะมีความคล้ายกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanctuary) หากแต่มีความ แตกต่างบางประการ เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยทั่วไปของประเทศไทย มีขนาดที่เล็กกว่าเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่า และการคุ้มครองชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัย จะเน้นเฉพาะเจาะจงลงไปในกลุ่มของ สัตว์ป่าตามบัญชีสัตว์ป่าที่ห้ามล่าแนบท้ายประกาศกระทรวงที่กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ควบคู่ไป กับสัตว์ป่าที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครองการกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จึงกำหนดตามบริเวณพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ ทั้งสัตว์ป่า ประจำถิ่น และสัตว์ป่าอพยพผ่าน เพื่อคุ้มครองให้สัตว์ป่าเหล่านั้นได้มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร การสืบพันธุ์ และสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติวิสัย เพื่อยังประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้เกิดความสมดุล อีกทั้งเป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ รวมถึงเพื่อเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ และการวิจัยด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายที่จะกำหนดพื้นที่ที่มีสภาพป่า สมบูรณ์มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า ตลอดจนมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เป็นที่น่าสนใจให้เป็น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมในอัตราร้อยละ 25 ของพื้นที่ ทั่วประเทศสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) พิจารณาแล้วเห็นว่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่เหนือเขื่อนทับเสลา ท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานีเป็นพื้นที่ป่าที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก และ หลากหลายชนิด ประกอบกับเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงเป็นพื้นที่ที่มี ความเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ผลการดำเนินการสำรวจข้อมูล พบว่ามีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะประกาศเป็นเขตห้ามล่า สัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ เนื้อที่จำนวน 16,207 ไร่ หรือ 25.93 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย ท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัด อุทัยธานี ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลโดยกรมป่าไม้ เป็นพื้นที่ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ และยังพบว่ามี สัตว์ป่าชุกชุม โดยสัตว์ป่ามีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างป่าสงวนฯดังกล่าว กับพื้นที่ป่าของเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความล่อแหลมต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า การประกาศ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ จึงเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า รวมถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัย ดำรงชีวิต และระบบนิเวศป่าไม้อีกทั้งยังสามารถกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ ให้มี ประสิทธิภาพสร้างแนวปฏิบัติในการจัดการพื้นที่ เพื่อลดการสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ ลดผลกระทบของสัตว์ป่าที่มีต่อชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม และยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐ ใน การเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเกิดการบูรณาการในการป้องกันทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรสัตว์ป่า ให้คงอยู่ โดยได้รับการประกาศจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ตามประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย ในท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. 2566
อาณาเขตติดต่อ
1. ทิศเหนือ ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหมู่บ้านไผ่งาม หมู่ที่ 10 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
2. ทิศใต้ ติดสวนป่าห้วยระบำ, บ้านโป่งมะค่า หมู่ที่ 7 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัด อุทัยธานี ,ป่าชุมชนห้วยเปล้า และหมู่บ้านอ่างห้วยดง หมู่ที่ 11 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัด อุทัยธานี
3. ทิศตะวันออก ติดกับพื้นที่กักเก็บน้ำของเขื่อนทับเสลา และบ้านบึงเจริญ หมู่ที่ 9 ตำบล ระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
4. ทิศตะวันตก ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ที่ตั้งและอาณาเขต
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย ตั้งอยู่ใน ท้องที่ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี มีขนาดพื้นที่ 16,207 ไร่ ( 25.93 ตร.กม.) อาณาเขตติดต่อกับชายขอบด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้นที่ ส่วนหนึ่งครอบคลุมพื้นที่เขื่อนทับเสลา ท้องที่ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-หัวยระบำ อ้างอิงได้จากสถานีตรวจ อากาศของศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้ง ที่ตั้งอยู่ในผืนป่าที่มีสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังสลับกับ ป่าเบญจพรรณเช่นเดียวกับสภาพสังคมพืชภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ จากการ วิเคราะห์สภาพอากาศจากสถานีตรวจอากาศดังกล่าวในคาบ 19 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2562 โดยแสงสรรค์ และคณะ (2565) (ตารางที่ 2) พบว่าพื้นที่บริเวณสถานีตรวจอากาศดังกล่าว มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27.1 องศาเซลเซียส ช่วงของอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนในคาบ 19 ปี อยู่ระหว่าง 16.2 และ 36.9 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนรวมตลอดปี 1,462.8 มิลลิเมตร ช่วงเดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส คือธันวาคมและมกราคม อย่างไรก็ตามเมื่อ พิจารณาค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดพบว่าทุกเดือนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียส ช่วงของอุณหภูมิต่ำสุดรายเดือนและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดรายเดือนที่บันทึกได้ในรอบ 19 ปี คือ 6.5 (เดือนธันวาคม พ.ศ. 2548) และ 43.0 (เดือนเมษายน พ.ศ. 2556) องศาเซลเซียส ตามลำดับ ขณะที่ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนรายเดือนพบว่าเดือนที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนเกินกว่า 100 มิลลิเมตร จากมากไปหาน้อยได้แก่ กันยายน (325.9 มิลลิเมตร) ตุลาคม (235.4 มิลลิเมตร)พฤษภาคม (211.8 มิลลิเมตร) สิงหาคม (155.4 มิลลิเมตร) มิถุนายน (148.7 มิลลิเมตร) และกรกฎาคม (140.1 มิลลิเมตร) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาข้อมูลสภาพอากาศจาก Walter-Lieth climate diagram (ภาพที่ 5) ในช่วงคาบ 19 ปี พบว่า ช่วงเดือนที่ถือได้ว่าเป็นฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม โดยมีช่วงฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม กล่าวได้ว่าสภาพภูมิอากาศใน บริเวณพื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย (1,572.5 มิลลิเมตร)
สภาพภูมิประเทศ
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา (foothill) โดยมีลักษณะเป็นพื้นที่ลอนคลื่น (undulated area) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปอยู่สูง 174 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ช่วงความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 130 - 322 เมตร) (ภาพที่ 6 ) จากการ รายงานของ แสงสรรค์ และคณะ (2565) สามารถจำแนกสภาพภูมิประเทศของพื้นที่โดยใช้ Topographic Position Index (TPI) พบว่าสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ที่ราบ 2) ที่ ลาดชันน้อย-ปานกลาง และ 3) สันเขา กล่าวได้ว่าพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ เกือบทั้งพื้นที่มีสภาพเป็นพื้นที่ราบถึงพื้นที่ลาดชันเล็กน้อย
ลำห้วยสำคัญได้แก่ ลำห้วยทับเสลา มีความยาวในส่วนที่ติดกับพื้นที่ประมาณ 3 กิโลเมตร และลำห้วยระบำ มีความยาวในส่วนที่ติดกับพื้นที่ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งทั้ง 2 ลำห้วย ระบายน้ำลง สู่อ่างเก็บน้ำทับเสลาและลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง
ทรัพยากรป่าไม้
จากการศึกษาสภาพสังคมพืชคลุมดินของนันทชัย และคณะ (2563) บริเวณพื้นที่ราบตั้งแต่ เชิงเขานางรำออกมาจนถึงบริเวณพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำนี้ โดยศึกษาจาก แปลงตัวอย่างกึ่งถาวรจำนวน 130 แปลง ตามแผนการสุ่มตัวอย่างเชิงระบบ (systematic sampling) ซึ่งกระจายห่างกัน 1 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมป่าผลัดใบที่ราบบริเวณหุบทับเสลาทั้งหมดราว 170 ตารางกิโลเมตร ได้รายงานว่าสภาพสังคมพืชในพื้นที่ศึกษาเป็นป่าผลัดใบที่มีสภาพภูมิประเทศส่วน ใหญ่เป็นที่ราบสลับกับพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาด สภาพป่าไม้ที่พบในพื้นที่ทั้งหมดเป็น ป่าผลัดใบที่ผ่านการทำไม้ และการเจาะน้ำมันยางในอดีตในราวปี พ.ศ. 2510 -2532 ในช่วงเวลา เดียวกันบางพื้นที่มีประวัติการบุกรุกจับจองพื้นที่เพื่อตั้งชุมชน ภายหลังการประกาศเป็นพื้นที่มรดก โลกทางธรรมชาติแล้วจึงมีการอพยพชุมชนต่างๆ ออกจากพื้นที่ เช่น ชุมชนบริเวณเขาหินแดง และ โป่งช้างเผือก การทำไม้และการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในพื้นที่บริเวณนี้มาก่อนได้ส่งผลให้สภาพสังคมพืช ในพื้นที่นี้อยู่ในช่วงของการทดแทนของหมู่ไม้ โดยปัจจุบันเป็นป่ารุ่นสอง โดยทั่วไปพื้นที่ป่าบริเวณนี้ เป็นป่าผลัดใบ สามารถจำแนกประเภทสังคมพืชคลุมดินออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าเบญจพรรณมีไผ่ และพื้นที่เปิดโล่ง จากข้อมูลการสำรวจในการศึกษาดังกล่าว พบว่าสภาพของสังคมพืชในพื้นที่ศึกษานี้ (เดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายน 2562) มีค่าเฉลี่ยการ ปกคลุมของเรือนยอดร้อยละ 65.20 ค่าเฉลี่ยจำนวนต้น 689.41 ต้น/เฮกแตร์ และค่าเฉลี่ย พื้นที่หน้าตัด 17.13 ตร.ม./เฮกแตร์ การศึกษาพบว่าป่าเต็งรังมีความหนาแน่นของจำนวนไม้ต้นสูง ที่สุด (1,053 ต้น/เฮกแตร์) ขณะที่มีค่าเฉลี่ยพื้นที่หน้าตัด และการปกคลุมเรือนยอดแตกต่างจาก ป่าเบญจพรรณ และป่าเบญจพรรณมีไผ่ไม่มากนัก ป่าเต็งรังมีการกระจายเป็นหย่อมสลับกับ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังโดยมากกระจายในพื้นที่ราบที่ไกลจากลำห้วย หรือเป็นพื้นที่เชิงเขาที่มีดินตื้น
ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์ต่ำเนื่องจากเป็นดินทรายจัด จากการสำรวจพบว่าป่าเต็งรังผืนใหญ่กระจายอยู่ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่ชายขอบของเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขณะที่ไผ่ป่าปรากฏร่วมกับป่าเบญจพรรณที่อยู่ริมน้ำ และไผ่รวกกระจายอยู่ ตามพื้นที่เชิงเขา ดินในป่าเบญจพรรณมีแนวโน้มลึก มีเนื้อดินเหนียวมากกว่า และอุดมสมบูรณ์กว่า ดินในป่าเต็งรังและพื้นที่เปิดโล่งอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปป่าเต็งรังกระจายอยู่บริเวณพื้นที่กันชน ด้านนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเฉพาะป่าเต็งรังผืนใหญ่ปรากฏในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ
ทรัพยากรสัตว์ป่า
ผืนป่าตะวันตกเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายของสัตว์ป่าที่มีการกระจายพันธุ์ จากหลากหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ (Zoogeographical range) เช่น นกเงือกคอแดงกระจายมาตั้งแต่ ป่าดิบเขาเชิงเทือกเขาหิมาลัย (Indo – Burmese subregion) สมเสร็จกระจายมาตั้งแต่คาบสมุทร มลายู (Sundaic subregion) เสือโคร่งอินโดจีน กระจายตั้งแต่เขตอินโดจีน (Indo – Chinese subregion) เป็นต้น (โดม และอมรพงษ์, 2565) ทำให้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกมีความหลากหลายในระดับชนิดพันธุ์สูง และสามารถพบสัตว์ป่าที่ โดดเด่นได้หลายชนิด จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ การศึกษาของพื้นที่เตรียมประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ (2565) และ การศึกษาของแสงสรรค์ และคณะ (2565) พบสัตว์ป่าทั้งสิ้น 175 ชนิด (species) 145 สกุล (genus) 80 วงศ์ (family) 30 อันดับ (order) โดย สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
จากการศึกษาพบเลี้ยงลูกด้วยนมได้ทั้งสิ้น 44 ชนิด 37 สกุล 21 วงศ์ 10 อันดับ ได้แก่ วัวแดง ควายป่า หมูป่า ช้างป่า เก้ง หมาจิ้งจอก กวางป่า เนื้อทราย ลิงกัง เสือโคร่ง เสือดาว ละมั่ง เป็นต้น
2. สัตว์เลื้อยคลาน
จากการสำรวจพบสัตว์เลื้อยคลานทั้งสิ้น 30 ชนิด 23 สกุล 10 วงศ์ 2 อันดับ เช่น ตุ๊กแกบ้าน จิ้งเหลนหลากลาย กิ้งก่าเขาหนามสั้น แย้ เต่าเหลือง ตะกวด ตะพาบแก้มแดง งูเขียวหาง ไหม้ท้องเขียว งูจงอาง งูเหลือม เป็นต้น
3. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
จากการสำรวจพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั้งสิ้น 14 ชนิด 12 สกุล 5 วงศ์ 1 อันดับ เช่น อึ่งกรายลายเลอะ อึ่งข้างดำ อึ่งขาคำ กบหนอง คางคกแคระ คางคกบ้าน ปาดบ้าน เป็นต้น
4. นก
จากการสำรวจพบนกทั้งสิ้น 87 ชนิด 73 สกุล 44 วงศ์ 17 อันดับ เช่น เหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวทุ่ง นกเค้าเหยี่ยว นกเค้ากู่ นกแก๊ก นกหัวขวาน นกอีวาบตั๊กแตน นกเด้าดิน นกเด้าลม นกอุ้ม บาตร นกกระรางหัวหงอก นกกระรางหัวขวาน นกโพระดกธรรมดา นกตีทอง นกปรอดสวน นกขุนแผน นกโพระดกหน้าผากดำ ไก่ป่า นกยูง เป็นต้น
การเดินทางไปเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ
1. โดยรถยนต์ส่วนบุคคล ให้ใช้ถนนสายเอเชีย จากกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทาง ประมาณ 200 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าสู่จังหวัดอุทัยธานี ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 17 กิโลเมตร จะถึงตัวจังหวัด อุทัยธานี ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 80 กิโลเมตร ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 สายจังหวัดอุทัยธานี - อำเภอหนองฉาง เมื่อถึงอำเภอหนองฉางให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางอำเภอลานสัก เรื่อยไปตามทางหลวงหมายเลข 3438 ผ่านที่ว่าการอำเภอลานสัก ตลาดปากเหมือง จนถึงทางเข้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ทับเสลา ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 900 เมตร จากนั้นจะเห็นป้ายสวนป่าห้วยระบำ ให้เบี่ยงซ้ายไป ตามถนนลำลอง อีก 4 กิโลเมตร จนถึงหมู่บ้านอ่างห้วยดง จะพบป้ายทางเข้าหน่วยพิทักษ์ป่าวังไผ่ ให้ เลี้ยวทางขวา ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตฯ
2. การเดินทางจากจังหวัดอุทัยธานี ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอยู่ห่างจาก ตัวจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร ให้ใช้ เส้นทางหลวงหมายเลข 333 สายจังหวัดอุทัยธานี - อำเภอหนองฉาง เมื่อถึงอำเภอหนองฉางให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางอำเภอลานสัก เรื่อยไปตามทาง หลวงหมายเลข 3438 ผ่านที่ว่าการอำเภอลานสัก ตลาดปากเหมือง จนถึงทางเข้าโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาทับเสลา ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 900 เมตร จากนั้นจะเห็นป้ายสวนป่าห้วยระบำ ให้เบี่ยงซ้ายไปตามถนนลำลอง อีก 4 กิโลเมตร จนถึงหมู่บ้านอ่างห้วยดง จะพบป้ายทางเข้าหน่วย พิทักษ์ป่าวังไผ่ ให้เลี้ยวทางขวา ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตฯ