ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติคลองลาน ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอคลองลาน และอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองลานอันสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายของจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของน้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ซึ่งไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิงและเป็นต้นน้ำตกคลองลานไหลลงสู่คลองขลุง เนื้อที่ประมาณ 187,500 ไร่ หรือ 300 ตารางกิโลเมตร
สืบเนื่องจากนายเทพ ไสยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือ ที่ กส 0215/230 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2521 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลการไปตรวจราชการที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2521 ว่า น้ำตกคลองลาน กิ่งอำเภอคลองลาน เป็นบริเวณป่าต้นน้ำลำธารและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่ขาดการดูแลรักษา และมีการลักลอบตัดไม้ไปใช้สอย หากปล่อยทิ้งไว้บริเวณป่าต้นน้ำลำธารก็จะถูกทำลายลงไป ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา กรมป่าไม้จึงมีหนังสือ ที่ กส 0808/1114 ลงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2521 แจ้งให้ ป่าไม้เขตนครสวรรค์ตรวจสอบ ซึ่งได้รับรายงานตามหนังสือ ที่ กส 0809(นว)/1596 ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2521 ว่า ได้ทำการสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลานไว้แล้ว เพื่อจะขออนุมัติกรมป่าไม้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพราะเห็นว่ามีทิวทัศน์สวยงามเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งน้ำตกคลองลานอยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ ของเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขากำแพงเพชร กรมประชาสงเคราะห์ ป่าไม้เขตนครสวรรค์จึงได้ประสานงานกับจังหวัดกำแพงเพชรและกรมประชาสงเคราะห์ ขอใช้พื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลาน จำนวน 5,000 ไร่ ที่อยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดเป็นวนอุทยาน ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ไม่ขัดข้อง จังหวัดกำแพงเพชรจึงมีหนังสือ ที่ มท 0714/13/13438 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2521 แจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานเพื่อสงวนป่าต้นน้ำลำธารแห่งนี้
ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 192/2523 ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2523 ให้ นายปรีชา จันทร์ศิริตานนท์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจและจัดพื้นที่บริเวณป่าคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าทั้งไม้สักและไม้กระยาเลยสมบูรณ์มาก เป็นภูเขาสูงมีธรรมชาติสวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2525 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2525 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าคลองลานเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองลานในท้องที่ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลคลองลาน และตำบลคลองลานพัฒนา กิ่งอำเภอคลองลาน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 191 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 44 ของประเทศ
ขนาดพื้นที่
187,500.00 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองลาน
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.1 (แม่พืช)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.2 (คลองน้ำไหล)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.3 (เพชรจะขอ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.4 (คลองสวนหมาก)
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส ดู ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
ป่าคลองลานยังมีสภาพสมบูรณ์เป็นแหล่งสุดท้ายในด้านทิศใต้ของภาคเหนือ ประกอบด้วยชนิดป่าต่างๆ คือ
ป่าดิบแล้ง ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 500 เมตรขึ้นไป เช่น ขุนคลองลาน ขุนคลองสวนมาก ขุนคลองขลุง ขุนน้ำเย็น ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน สมพง ยมหอม พะยอม สมอพิเภก ฯลฯ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ กระทิง กวางป่า หมูป่า ชะนีมือขาว หนูหริ่งไม้หางพู่ ปาดลายพื้นเมืองเหนือ กบห้วยขาปุ่ม เต่าปูลู กิ้งก่าบินคอแดง ฯลฯ
ป่าดิบเขา จะพบป่าชนิดนี้ตามเขาที่มีความสูงตั้ง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไปมีพื้นที่ไม่มากนัก
ป่าเบญจพรรณ ถือว่าเป็นป่าส่วนใหญ่ของอุทยาน พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ประดู่ แดง มะค่าโมง ชึงชัน และไผ่ชนิดต่างๆ ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบในถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทนี้ ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง ตะกวด ฯลฯ
ป่าเต็งรัง พบในระดับความสูงประมาณ 400 - 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล กระจายอยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยาน ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง ยางพลวง ยางกราด ยอป่า สมอพิเภก ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบในป่าประเภทนี้ได้แก่ เขียดหลังปุ่มที่ราบ เขียดอ่อง อึ่งปากขวด เก้ง เป็นต้น
ไร่ร้าง พบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติ ในอดีตเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ได้อพยพชาวเขาเหล่านี้มาอยู่พื้นที่ราบที่ทางราชการจัดสรรให้ ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา พื้นที่จึงกลายเป็นไร่ร้าง และทุ่งหญ้า ที่มีการฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ และพื้นที่บางส่วนได้รับการฟื้นฟูจากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ
พื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะ กระทิง นอกจากนี้ยังพบสัตว์ขนาดเล็กจำพวกกระแตธรรมดา ค้างคาวขอบหูขาว กระรอก หนูฟันขาว และหนูขนเสี้ยน ส่วนในบริเวณที่เป็นถ้ำ หลืบหิน และหน้าผา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเฉพาะชนิด เช่น เลียงผา ค้างคาวปีกถุงเคราแดง ค้างคาวมงกุฎเล็ก ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ และค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ์ เป็นต้น พื้นที่บริเวณริมลำห้วย และลำคลองที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นแหล่งที่หลบซ่อนหรือถิ่นอาศัยหากินของสัตว์หลายประเภท ได้แก่ กบทูด อึ่งกรายลายเลอะ ตะพาบธรรมดา ปลาสลาด ปลาเวียน และปลาติดดิน เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ
1. น้ำตกคลองลาน
น้ำตกคลองลาน เกิดจากเทือกเขาขุนคลองลาน ซึ่งมียอดสูง 1,439 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหนือหน้าผาน้ำตกเป็นที่ราบกว้าง ในฤดูฝนสายน้ำจะไหลจากลำห้วยต่างๆ ประมาณ 5 สาย ลงสู่แอ่งน้ำกลางหุบเขา เกิดเป็นวังน้ำลึกและลำน้ำยาวประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วไหลผ่านหน้าผาลงมาเป็นน้ำตกคลองลาน สูง 100 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตร บริเวณใต้น้ำตกเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งสามารถลงเล่นน้ำได้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 500 เมตร
2. น้ำตกคลองน้ำไหล
น้ำตกคลองน้ำไหลหรือน้ำตกปางควาย อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากเส้นทางสายอุ้มผาง-คลองลาน ก่อนถึงอำเภอคลองลาน มีทางแยกด้านขวาเข้าสู่น้ำตก เรียกว่า “ถนนปางควาย” ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ถึงน้ำตกคลองน้ำไหล ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลาง สายน้ำไหลลดหลั่นกันลงมา มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมีแอ่งน้ำและความสูงต่างกัน ลานหินที่นี่กว้างมากเป็นสีนิลวาววับเมื่อตัดกับสายน้ำ ลำธารสวยด้วยโขดหิน ในชั้นที่ 3 น้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ดูสวยงามทางฝั่งขวาไหลลงสู่แอ่งน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำตก
3. ลำน้ำคลองสวนหมาก
ลำน้ำคลองสวนหมาก เกิดจากน้ำซับจากป่าอุทยานแห่งชาติคลองลานและป่าอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ไหลลงมารวมกันเกิดลำน้ำคลองสวนหมาก สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของลำน้ำคลองสวนหมากคือ แก่งเกาะร้อย สำหรับน้ำคลองสวนหมากจะมีนักท่องเที่ยวนิยมล่องแพยางประมาณเดือน พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก และมีแก่งหินเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบท้าทายลักษณะของลำคลองสวนหมากจะเป็นแก่งหินและเนินทราย มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
แผนที่กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
สถานที่ติดต่อ : อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 62180
โทรศัพท์ : 088 407 9915
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Facebook : อุทยานแห่งชาติคลองลาน - Khlong Lan National Park
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายสุระชัย โภคะมณี
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ
ร้านค้าสวัสดิการ ( กาแฟ น้ำดื่ม ขนม ) เปิดบริการทุกวันเวลา 08.00 น.-16.30 น.
สัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ : AIS, TRUE, DTAC
การเดินทาง รถยนต์ จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถยนต์ถนนสายเอเชียผ่านจังหวัดนครสวรรค์ก่อนถึงตัวจังหวัดกำแพงเพชร ที่โค้งวิไล เลยหลักกิโลเมตรที่ 307 มานิดหน่อยพอถึงสะพานลอยให้เลี้ยวซ้ายตามถนนหมายเลข 1242 ผ่านอำเภอปางศิลาทอง จนไปถึงสามแยกเขาน้ำอุ่น เลี้ยวขวาตามถนนหมายเลข 1072 ถึงสี่แยกตลาดคลองลาน ขับรถเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองลาน หรือ จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถยนต์ถนนสายเอเซียผ่านจังหวัดนครสวรรค์ก่อนถึงตัวจังหวัดกำแพงเพชรตรงหลักกิโลเมตรที่ 346 เลี้ยวซ้ายที่ตลาดบ้านคลองแม่ลายเข้าไปตามถนนสายคลอง แม่ลาย-อุ้มผาง ระยะทาง 46 กิโลเมตร ถึงบริเวณสี่แยกตลาดคลองลานจะมีทางแยกขวามือ เข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งอยู่ใกล้กับน้ำตกคลองลาน
ที่พัก - คลองลาน 107 (จันทร์ผา)
- คลองลาน 108 (ฟ้ามุ้ย)
- คลองลาน 109 (สีสุก)
- คลองลาน 110 (ชาทอง)
- คลองลาน 114/1 (เถาวัลย์เปียง)
- คลองลาน 114/2 (เถาวัลย์เปียง)
- คลองลาน 114/3 (เถาวัลย์เปียง)
- คลองลาน 114/4 (เถาวัลย์เปียง)
- คลองลาน 115/1 (มะเนียงน้ำ)
- คลองลาน 115/2 (มะเนียงน้ำ)
- คลองลาน 115/3 (มะเนียงน้ำ)
- คลองลาน 115/4 (มะเนียงน้ำ)
** หมายเหตุ : เมื่อนักท่องเที่ยวจองบ้านพักมาเรียบร้อยแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับกุญแจบ้านพักที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
หมายเหตุ : เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้ว กรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว
ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ