205263
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
527
736
1263
199775
527
18649
205263

Your IP: 192.168.102.1
2025-07-01 13:31
Visitors Counter
โมโกจู
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
น้ำตกคลองลาน
อุทยานแห่งชาติคลองลาน
น้ำตกเต่าดำ
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
อ่างเก็บน้ำคลองไก่เถื่อน
วนอุทยานห้วยคต
เขาหลวง
วนอุทยานเขาหลวง
ถ้ำประกายเพชร
วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง
เขาหน่อ
วนอุทยานเขาหน่อ-เขาแก้ว
อนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง


ประวัติความเป็นมา

     เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-Hunting Area) เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย แต่เดิมต้องการ มุ่งเน้นที่การคุ้มครองเฉพาะสัตว์ป่าบางชนิด (พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503) สำหรับในปัจจุบันมีเจตนาที่จะคุ้มครองทั้งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าควบคู่กันไป (พระราชบัญญัติและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562) ซึ่งจะมีความคล้ายกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanctuary) หากแต่มีความ แตกต่างบางประการ เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยทั่วไปของประเทศไทย มีขนาดที่เล็กกว่าเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่า และการคุ้มครองชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัย จะเน้นเฉพาะเจาะจงลงไปในกลุ่มของ สัตว์ป่าตามบัญชีสัตว์ป่าที่ห้ามล่าแนบท้ายประกาศกระทรวงที่กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ควบคู่ไป กับสัตว์ป่าที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครองการกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จึงกำหนดตามบริเวณพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ ทั้งสัตว์ป่า ประจำถิ่น และสัตว์ป่าอพยพผ่าน เพื่อคุ้มครองให้สัตว์ป่าเหล่านั้นได้มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร การสืบพันธุ์ และสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติวิสัย เพื่อยังประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้เกิดความสมดุล อีกทั้งเป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ รวมถึงเพื่อเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ และการวิจัยด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต

   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายที่จะกำหนดพื้นที่ที่มีสภาพป่า สมบูรณ์มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า ตลอดจนมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เป็นที่น่าสนใจให้เป็น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมในอัตราร้อยละ 25 ของพื้นที่ ทั่วประเทศสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) พิจารณาแล้วเห็นว่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่เหนือเขื่อนทับเสลา ท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานีเป็นพื้นที่ป่าที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก และ หลากหลายชนิด ประกอบกับเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงเป็นพื้นที่ที่มี ความเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

      ผลการดำเนินการสำรวจข้อมูล พบว่ามีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะประกาศเป็นเขตห้ามล่า สัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ เนื้อที่จำนวน 16,207 ไร่ หรือ 25.93 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย ท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัด อุทัยธานี ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลโดยกรมป่าไม้ เป็นพื้นที่ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ และยังพบว่ามี สัตว์ป่าชุกชุม โดยสัตว์ป่ามีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างป่าสงวนฯดังกล่าว กับพื้นที่ป่าของเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความล่อแหลมต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า การประกาศ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ จึงเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า รวมถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัย ดำรงชีวิต และระบบนิเวศป่าไม้อีกทั้งยังสามารถกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ ให้มี ประสิทธิภาพสร้างแนวปฏิบัติในการจัดการพื้นที่ เพื่อลดการสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ ลดผลกระทบของสัตว์ป่าที่มีต่อชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม และยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐ ใน การเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเกิดการบูรณาการในการป้องกันทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรสัตว์ป่า ให้คงอยู่ โดยได้รับการประกาศจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ตามประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย ในท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. 2566

อาณาเขตติดต่อ

 1. ทิศเหนือ ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหมู่บ้านไผ่งาม หมู่ที่ 10 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

 2. ทิศใต้ ติดสวนป่าห้วยระบำ, บ้านโป่งมะค่า หมู่ที่ 7 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัด อุทัยธานี ,ป่าชุมชนห้วยเปล้า และหมู่บ้านอ่างห้วยดง หมู่ที่ 11 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัด อุทัยธานี

 3. ทิศตะวันออก ติดกับพื้นที่กักเก็บน้ำของเขื่อนทับเสลา และบ้านบึงเจริญ หมู่ที่ 9 ตำบล ระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

 4. ทิศตะวันตก ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

 

ที่ตั้งและอาณาเขต

     เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย ตั้งอยู่ใน ท้องที่ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี มีขนาดพื้นที่ 16,207 ไร่ ( 25.93 ตร.กม.) อาณาเขตติดต่อกับชายขอบด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้นที่ ส่วนหนึ่งครอบคลุมพื้นที่เขื่อนทับเสลา ท้องที่ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ลักษณะภูมิอากาศ

    สภาพอากาศบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-หัวยระบำ อ้างอิงได้จากสถานีตรวจ อากาศของศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้ง ที่ตั้งอยู่ในผืนป่าที่มีสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังสลับกับ ป่าเบญจพรรณเช่นเดียวกับสภาพสังคมพืชภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ จากการ วิเคราะห์สภาพอากาศจากสถานีตรวจอากาศดังกล่าวในคาบ 19 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2562 โดยแสงสรรค์ และคณะ (2565) (ตารางที่ 2) พบว่าพื้นที่บริเวณสถานีตรวจอากาศดังกล่าว มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27.1 องศาเซลเซียส ช่วงของอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนในคาบ 19 ปี อยู่ระหว่าง 16.2 และ 36.9 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนรวมตลอดปี 1,462.8 มิลลิเมตร ช่วงเดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส คือธันวาคมและมกราคม อย่างไรก็ตามเมื่อ พิจารณาค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดพบว่าทุกเดือนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียส ช่วงของอุณหภูมิต่ำสุดรายเดือนและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดรายเดือนที่บันทึกได้ในรอบ 19 ปี คือ 6.5 (เดือนธันวาคม พ.ศ. 2548) และ 43.0 (เดือนเมษายน พ.ศ. 2556) องศาเซลเซียส ตามลำดับ ขณะที่ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนรายเดือนพบว่าเดือนที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนเกินกว่า 100 มิลลิเมตร จากมากไปหาน้อยได้แก่ กันยายน (325.9 มิลลิเมตร) ตุลาคม (235.4 มิลลิเมตร)พฤษภาคม (211.8 มิลลิเมตร) สิงหาคม (155.4 มิลลิเมตร) มิถุนายน (148.7 มิลลิเมตร) และกรกฎาคม (140.1 มิลลิเมตร) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาข้อมูลสภาพอากาศจาก Walter-Lieth climate diagram (ภาพที่ 5) ในช่วงคาบ 19 ปี พบว่า ช่วงเดือนที่ถือได้ว่าเป็นฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม โดยมีช่วงฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม กล่าวได้ว่าสภาพภูมิอากาศใน บริเวณพื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย (1,572.5 มิลลิเมตร)

สภาพภูมิประเทศ

     เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา (foothill) โดยมีลักษณะเป็นพื้นที่ลอนคลื่น (undulated area) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปอยู่สูง 174 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ช่วงความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 130 - 322 เมตร) (ภาพที่ 6 ) จากการ รายงานของ แสงสรรค์ และคณะ (2565) สามารถจำแนกสภาพภูมิประเทศของพื้นที่โดยใช้ Topographic Position Index (TPI) พบว่าสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ที่ราบ 2) ที่ ลาดชันน้อย-ปานกลาง และ 3) สันเขา กล่าวได้ว่าพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ เกือบทั้งพื้นที่มีสภาพเป็นพื้นที่ราบถึงพื้นที่ลาดชันเล็กน้อย

      ลำห้วยสำคัญได้แก่ ลำห้วยทับเสลา มีความยาวในส่วนที่ติดกับพื้นที่ประมาณ 3 กิโลเมตร และลำห้วยระบำ มีความยาวในส่วนที่ติดกับพื้นที่ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งทั้ง 2 ลำห้วย ระบายน้ำลง สู่อ่างเก็บน้ำทับเสลาและลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง

ทรัพยากรป่าไม้

     จากการศึกษาสภาพสังคมพืชคลุมดินของนันทชัย และคณะ (2563) บริเวณพื้นที่ราบตั้งแต่ เชิงเขานางรำออกมาจนถึงบริเวณพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำนี้ โดยศึกษาจาก แปลงตัวอย่างกึ่งถาวรจำนวน 130 แปลง ตามแผนการสุ่มตัวอย่างเชิงระบบ (systematic sampling) ซึ่งกระจายห่างกัน 1 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมป่าผลัดใบที่ราบบริเวณหุบทับเสลาทั้งหมดราว 170 ตารางกิโลเมตร ได้รายงานว่าสภาพสังคมพืชในพื้นที่ศึกษาเป็นป่าผลัดใบที่มีสภาพภูมิประเทศส่วน ใหญ่เป็นที่ราบสลับกับพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาด สภาพป่าไม้ที่พบในพื้นที่ทั้งหมดเป็น ป่าผลัดใบที่ผ่านการทำไม้ และการเจาะน้ำมันยางในอดีตในราวปี พ.ศ. 2510 -2532 ในช่วงเวลา เดียวกันบางพื้นที่มีประวัติการบุกรุกจับจองพื้นที่เพื่อตั้งชุมชน ภายหลังการประกาศเป็นพื้นที่มรดก โลกทางธรรมชาติแล้วจึงมีการอพยพชุมชนต่างๆ ออกจากพื้นที่ เช่น ชุมชนบริเวณเขาหินแดง และ โป่งช้างเผือก การทำไม้และการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในพื้นที่บริเวณนี้มาก่อนได้ส่งผลให้สภาพสังคมพืช ในพื้นที่นี้อยู่ในช่วงของการทดแทนของหมู่ไม้ โดยปัจจุบันเป็นป่ารุ่นสอง โดยทั่วไปพื้นที่ป่าบริเวณนี้ เป็นป่าผลัดใบ สามารถจำแนกประเภทสังคมพืชคลุมดินออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าเบญจพรรณมีไผ่ และพื้นที่เปิดโล่ง จากข้อมูลการสำรวจในการศึกษาดังกล่าว พบว่าสภาพของสังคมพืชในพื้นที่ศึกษานี้ (เดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายน 2562) มีค่าเฉลี่ยการ ปกคลุมของเรือนยอดร้อยละ 65.20 ค่าเฉลี่ยจำนวนต้น 689.41 ต้น/เฮกแตร์ และค่าเฉลี่ย พื้นที่หน้าตัด 17.13 ตร.ม./เฮกแตร์ การศึกษาพบว่าป่าเต็งรังมีความหนาแน่นของจำนวนไม้ต้นสูง ที่สุด (1,053 ต้น/เฮกแตร์) ขณะที่มีค่าเฉลี่ยพื้นที่หน้าตัด และการปกคลุมเรือนยอดแตกต่างจาก ป่าเบญจพรรณ และป่าเบญจพรรณมีไผ่ไม่มากนัก ป่าเต็งรังมีการกระจายเป็นหย่อมสลับกับ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังโดยมากกระจายในพื้นที่ราบที่ไกลจากลำห้วย หรือเป็นพื้นที่เชิงเขาที่มีดินตื้น

       ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์ต่ำเนื่องจากเป็นดินทรายจัด จากการสำรวจพบว่าป่าเต็งรังผืนใหญ่กระจายอยู่ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่ชายขอบของเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขณะที่ไผ่ป่าปรากฏร่วมกับป่าเบญจพรรณที่อยู่ริมน้ำ และไผ่รวกกระจายอยู่ ตามพื้นที่เชิงเขา ดินในป่าเบญจพรรณมีแนวโน้มลึก มีเนื้อดินเหนียวมากกว่า และอุดมสมบูรณ์กว่า ดินในป่าเต็งรังและพื้นที่เปิดโล่งอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปป่าเต็งรังกระจายอยู่บริเวณพื้นที่กันชน ด้านนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเฉพาะป่าเต็งรังผืนใหญ่ปรากฏในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ

ทรัพยากรสัตว์ป่า

   ผืนป่าตะวันตกเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายของสัตว์ป่าที่มีการกระจายพันธุ์ จากหลากหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ (Zoogeographical range) เช่น นกเงือกคอแดงกระจายมาตั้งแต่ ป่าดิบเขาเชิงเทือกเขาหิมาลัย (Indo – Burmese subregion) สมเสร็จกระจายมาตั้งแต่คาบสมุทร มลายู (Sundaic subregion) เสือโคร่งอินโดจีน กระจายตั้งแต่เขตอินโดจีน (Indo – Chinese subregion) เป็นต้น (โดม และอมรพงษ์, 2565) ทำให้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกมีความหลากหลายในระดับชนิดพันธุ์สูง และสามารถพบสัตว์ป่าที่ โดดเด่นได้หลายชนิด จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ การศึกษาของพื้นที่เตรียมประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ (2565) และ การศึกษาของแสงสรรค์ และคณะ (2565) พบสัตว์ป่าทั้งสิ้น 175 ชนิด (species) 145 สกุล (genus) 80 วงศ์ (family) 30 อันดับ (order) โดย สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

    จากการศึกษาพบเลี้ยงลูกด้วยนมได้ทั้งสิ้น 44 ชนิด 37 สกุล 21 วงศ์ 10 อันดับ ได้แก่ วัวแดง ควายป่า หมูป่า ช้างป่า เก้ง หมาจิ้งจอก กวางป่า เนื้อทราย ลิงกัง เสือโคร่ง เสือดาว ละมั่ง เป็นต้น

2. สัตว์เลื้อยคลาน

จากการสำรวจพบสัตว์เลื้อยคลานทั้งสิ้น 30 ชนิด 23 สกุล 10 วงศ์ 2 อันดับ เช่น ตุ๊กแกบ้าน จิ้งเหลนหลากลาย กิ้งก่าเขาหนามสั้น แย้ เต่าเหลือง ตะกวด ตะพาบแก้มแดง งูเขียวหาง ไหม้ท้องเขียว งูจงอาง งูเหลือม เป็นต้น

3. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

จากการสำรวจพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั้งสิ้น 14 ชนิด 12 สกุล 5 วงศ์ 1 อันดับ เช่น อึ่งกรายลายเลอะ อึ่งข้างดำ อึ่งขาคำ กบหนอง คางคกแคระ คางคกบ้าน ปาดบ้าน เป็นต้น

4. นก

    จากการสำรวจพบนกทั้งสิ้น 87 ชนิด 73 สกุล 44 วงศ์ 17 อันดับ เช่น เหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวทุ่ง นกเค้าเหยี่ยว นกเค้ากู่ นกแก๊ก นกหัวขวาน นกอีวาบตั๊กแตน นกเด้าดิน นกเด้าลม นกอุ้ม บาตร นกกระรางหัวหงอก นกกระรางหัวขวาน นกโพระดกธรรมดา นกตีทอง นกปรอดสวน นกขุนแผน นกโพระดกหน้าผากดำ ไก่ป่า นกยูง เป็นต้น

 

การเดินทางไปเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ

1. โดยรถยนต์ส่วนบุคคล ให้ใช้ถนนสายเอเชีย จากกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทาง ประมาณ 200 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าสู่จังหวัดอุทัยธานี ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 17 กิโลเมตร จะถึงตัวจังหวัด อุทัยธานี ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 80 กิโลเมตร ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 สายจังหวัดอุทัยธานี - อำเภอหนองฉาง เมื่อถึงอำเภอหนองฉางให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางอำเภอลานสัก เรื่อยไปตามทางหลวงหมายเลข 3438 ผ่านที่ว่าการอำเภอลานสัก ตลาดปากเหมือง จนถึงทางเข้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ทับเสลา ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 900 เมตร จากนั้นจะเห็นป้ายสวนป่าห้วยระบำ ให้เบี่ยงซ้ายไป ตามถนนลำลอง อีก 4 กิโลเมตร จนถึงหมู่บ้านอ่างห้วยดง จะพบป้ายทางเข้าหน่วยพิทักษ์ป่าวังไผ่ ให้ เลี้ยวทางขวา ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตฯ

2. การเดินทางจากจังหวัดอุทัยธานี ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอยู่ห่างจาก ตัวจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร ให้ใช้ เส้นทางหลวงหมายเลข 333 สายจังหวัดอุทัยธานี - อำเภอหนองฉาง เมื่อถึงอำเภอหนองฉางให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางอำเภอลานสัก เรื่อยไปตามทาง หลวงหมายเลข 3438 ผ่านที่ว่าการอำเภอลานสัก ตลาดปากเหมือง จนถึงทางเข้าโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาทับเสลา ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 900 เมตร จากนั้นจะเห็นป้ายสวนป่าห้วยระบำ ให้เบี่ยงซ้ายไปตามถนนลำลอง อีก 4 กิโลเมตร จนถึงหมู่บ้านอ่างห้วยดง จะพบป้ายทางเข้าหน่วย พิทักษ์ป่าวังไผ่ ให้เลี้ยวทางขวา ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตฯ


 


ประวัติ/ความเป็นมา

    สืบเนื่องจาก เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเขาปลาร้าเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2536 เพื่อทอดพระเนตรภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 3,000 - 5,000 ปี และทรงมีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจเพื่อที่จะอนุรักษ์ภาพเขียนสี พันธุ์ไม้ พร้อมทั้งอนุรักษ์สัตว์ป่าให้คงอยู่ตลอดไป กรมป่าไม้จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้ามาทำ การสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ครอบคลุมพื้นที่เขาหินปูนเนื้อที่ประมาณ 13,052 ไร่ ประกอบด้วยภูเขา จำนวน 7 ลูก คือ เขาฆ้องชัย เขาน้ำโจน เขาน้อย เขาห้วยโศก เขาปลาร้า เขาบริวาร และเขาโยคาวจร ซึ่งมี พันธุ์ไม้ที่สำคัญ และสัตว์ป่าหายากโดยเฉพาะเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่ และในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมชมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน (หุบป่าตาด) อีกครั้ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุนได้รับประกาศจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม   พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สถานที่ตั้งและอาณาเขต

          สถานที่ตั้ง

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาฆ้องชัย หมู่ที่ 1 ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ติดทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3438 หนองฉาง-ลานสัก หลักกิโลเมตรที่ 26-27 พิกัด 47P 0564025E 1706812N

          อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

          ทิศเหนือ          จรด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3438 ตำบลทุ่งนางาม

          ทิศใต้             จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยทับเสลา – ป่าห้วยคอกควาย

          ทิศตะวันออก     จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาบางแกรก – ป่าทุ่งโพ

          ทิศตะวันตก      จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยทับเสลา – ป่าห้วยคอกควาย

จำนวนพื้นที่

          1.พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จำนวน  13,052  ไร่

          2.พื้นที่ควบคุมเตรียมการผนวกเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จำนวน 4,790 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ

          เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากที่ลาดเชิงเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นเขตแดนระหว่างไทย-พม่า ซึ่งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และจังหวัดตาก บริเวณพื้นที่ภูเขาปลาร้า และเขาฆ้องชัย ลักษณะภูมิประเทศในบริเวณนี้มีภูเขาที่มีลักษณะเป็นภูเขาโดด หรือภูเขาที่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ จำนวนทั้งหมด 14 ลูก ซึ่งมีเขาหินปูนที่สำคัญ 2 ลูก ประกอบด้วย

          เขาปลาร้า เป็นภูเขาที่มีความสูงของยอดสูงสุดประมาณ ๕๙๗ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสภาพที่เป็นเขาหินปูนทำให้มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้พื้นที่โดยรอบของภูเขามีหน้าผาสูงชัน มีความสวยงาม ลักษณะของภูเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร และกว้างประมาณ ๓ กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๕,๐๐๐ ไร่

          เขาฆ้องชัย มีความสูงจากจุดสูงสุดประมาณ ๓๕๓ เมตร จากระดับน้ำทะเล ปานกลาง จากที่เป็นภูเขาหินปูน ทำให้พื้นที่โดยรอบของภูเขาฆ้องชัยมีหน้าผาสูงชัน มีความลาดชันโดยเฉลี่ยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ วางตัวของภูเขานี้ในแนวเหนือ-ใต้ เช่นเดียวกับเขาปลาร้า โดยมีความยาวประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร และกว้างประมาณ ๒ กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๗ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔,๓๗๕ ไร่ พื้นที่โดยรอบของพื้นที่ภูเขาดังกล่าวเป็นที่ราบที่มีความลาดชันอัตรา ๑ : ๑๐๐ นอกจากนั้น ในพื้นที่บริเวณนี้มีลำน้ำสองสาย ได้แก่ ห้วยทับเสลา ซึ่งไหลผ่านทางเหนือของเขาปลาร้าและเขาฆ้องชัย และห้วยขุนแก้วหรือห้วยคอกควายซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของภูเขาทั้งสองดังกล่าว และลำน้ำทั้งสองได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการสร้างเขื่อนได้แก่ เขื่อนทับเสลาและเขื่อนขุนแก้ว

 

ลักษณะภูมิอากาศ

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ประกอบด้วย ๓ ฤดูกาลในรอบปี ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน

          ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม จนถึงเดือน ตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกมากที่สุดในเดือน กันยายน   ซึ่งจะมีสภาพอากาศเป็นฤดูฝนกึ่งร้อนชื้นปนอยู่ด้วย

          ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ถึงเดือน มกราคม เป็นช่วงที่มีความหนาวเย็นเป็นระยะในพื้นที่

          ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือน เมษายน โดยเดือน เมษายน มีความร้อนจัดมากกว่าทุกเดือน

 

 

 

ลักษณะทางธรณีวิทยาและปฐพีวิทยา

          ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดในยุค Permian จากลักษณะทางเคมีของหินปูนก่อให้เกิดถ้ำจำนวนหลายแห่ง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ถ้ำที่สำคัญของเขาปลาร้า และเขาบริวาร ประกอบด้วย ถ้ำลม ถ้ำเพชร ถ้ำทอง และถ้ำป่าตาด ส่วนบริเวณเขาฆ้องชัย ประกอบไปด้วย  ถ้ำพรสวรรค์ ถ้ำน้ำทิพย์ ถ้ำค้างคาว และยังมีถ้ำอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ยังมิได้สำรวจและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากถ้ำดังกล่าวแล้ว บริเวณโดยรอบภูเขาเป็นหน้าผาสูงชัน มีความสูงอยู่ระหว่าง 200-300 เมตร ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีทิวทัศน์ที่สวยงามแก่ผู้พบเห็น

ทรัพยากรป่าไม้

   ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จำแนกชนิดป่าไม้ออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

  1. ป่าดิบแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของยอดเขาหินปูนและที่ราบบนภูเขา เนื้อที่ประมาณ 5,220.8 ไร่ หรือ 40 % ของพื้นที่

  2. ป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ชายเขาหินปูนและไหล่เขาเป็นส่วนใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 7,318.2 ไร่ หรือ 60 % ของพื้นที่

ทรัพยากรสัตว์ป่า

ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน มีการจำแนกชนิดสัตว์ป่าที่พบ และชนิดสัตว์ป่าที่สำคัญ ที่มีการสำรวจเป็นเบื้องต้นแล้วตามรายงานประกอบการสำรวจจัดตั้งพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ประกอบด้วย

1.จำพวกนก จำนวน  89  ชนิด

2.จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน  25  ชนิด

3.จำพวกเลื้อยคลาน จำนวน  29  ชนิด

4.จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน   8  ชนิด

    


 จุดเด่นภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

          - ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาปลาร้า ตั้งอยู่บริเวณยอดเขาปลาร้า บ้านชายเขา หมู่ที่ 3 ตำบล   ทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี นายบุญธรรมและนายสงวน อินทประเทศ ชาวบ้านตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เป็นผู้ขึ้นไปพบภาพบนผาหินของถ้ำประทุน ในคราวที่ขึ้นไปหาของป่าและล่าสัตว์ ได้เห็นภาพเขียนด้วยสีแดงอยู่บนผนังถ้ำ คิดว่าพวกล่าสัตว์คงขึ้นมาเขียนทิ้งไว้ ต่อมาได้นำข่าวนี้ไปบอกกับข้าราชการอำเภอหนองฉาง ข่าวนี้แพร่ออกไปยัง คุณพลาดิสัย และอาจารย์พิศิษฐ์ สุริยกานต์ อาจารย์โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จึงพากันขึ้นไปดูแล้วเขียนเรื่องเผยแพร่ลงในหนังสือวารสารประชาศึกษา ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2521 ในเวลาเดียวกันอาจารย์วิทยา อินทโกศัย นักโบราณคดีกรมศิลปากรพร้อมด้วยคณะสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีในเขตจังหวัดอุทัยธานี ได้เข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของทางราชการว่ามีการพบเห็นหลักฐานทางโบราณคดีบ้างหรือไม่ จนได้ทราบเรื่องการพบภาพเขียนบนผนังถ้ำประทุนบนเขาปลาร้าจากนายบุญธรรมเอง และ  นำทางขึ้นไปดู ต่อจากนั้นก็ส่งรายงานมายังกองโบราณคดีและได้มีการเผยแพร่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ จากนั้นก็มีครูอาจารย์และข้าราชการพากันขึ้นไปชมอยู่เนืองๆ จนมีผู้พบขวานหินขัด 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งสมบูรณ์แต่อีกชิ้นหนึ่งมีเพียงครึ่งเดียว และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันหลักฐานที่พบเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี

 

             - หุบป่าตาด ถูกค้นพบครั้งแรกโดยพระครูสันติธรรมโกศล เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง เมื่อปี พ.ศ.2522 เป็นส่วนหนึ่งของเขาห้วยโศก ซึ่งเป็นเขาบริวารของเขาปลาร้ามีลักษณะพิเศษเป็นถ้ำมาก่อน แต่เมื่อหลังคาถ้ำยุบตัวลงจึงกลายเป็นหุบหรือหลุมกลางภูเขา มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ มีลักษณะป่าคล้ายป่าดึกดำบรรพ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทางออกเพียงทางเดียวและเป็นช่องแคบๆ จึงทำให้บริเวณนี้เป็นระบบนิเวศค่อนค้างปิด มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี มีต้นตาดขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ที่น่าสนใจ เช่น ขนุนดิน ม้ากระทืบโรง รวมทั้งสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น เลียงผา เต่าเหลือง นกหลายชนิด และสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ของโลก คือ กิ้งกือมังกรสีชมพู พร้อมทั้งมีหินงอกหินย้อยที่ตามผนังถ้ำและอุโมงค์ถ้ำ พบเห็นทั่วไปภายในหุบป่าตาด ในปี พ.ศ.2547 หุบป่าตาด ได้รับคัดเลือกให้เป็น Unseen Thailand

 

         - ถ้ำค้างคาวเขาฆ้องชัย ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดในยุค Permian อายุประมาณ 230 ล้านปี มีเนื้อที่ประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,081.25 ไร่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 353 เมตร ลักษณะตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปเป็นหน้าผาสูงชันตลอด รอบเขามีถ้ำที่สำคัญได้แก่ ถ้ำเขาฆ้องชัย ถ้ำพรสวรรค์ ถ้ำน้ำทิพย์ ถ้ำน้ำลอด และถ้ำค้างคาว เวลาออกหากินของค้างคาว ประมาณ 17.30 น. และกลับเข้าถ้ำ ประมาณ 05.30 น.

 

 

 

 


ความเป็นมา

  ในปี พ.ศ. 2527 จังหวัดกำแพงเพซรได้ดำเนินการให้ "เขาสน" เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด เนื่องจากป่าเขาสน-เขาสนามเพรียงเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์และอยู่ใกล้ตัวจังหวัดมากที่สุด โดยร่วมมือกับพ่อค้าและประชาชนดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่เขาสน ต่อมากรมป่าไม่ได้ดำเนินการเพื่อจัดตั้งพื้นที่ป้าเขาสน-เขาสนามเพรียงเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงเมื่อปี 2528 เหตุผลในการประกาศช้พระราซกฤษฎีกาฉบับนี้ เนื่องจากป่าสนเขาเขาสนามเพรียงมีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่า แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารของสัตว์ป่าอุดมสมบูณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า และให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย รวมทั้งเป็นการช่วยป้องกันรักษาต้นน้ำลำธารและป่าไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ให้คงอยู่อย่างถาวรตลอดไป สมควรกำหนดบริเวณที่ดินป่าดังกล่าวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ภูมิประเทศ

  ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 120-867 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาสน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิง ประกอบด้วย คลองวังชม คลองคะยาง คลองแดงโม คลองไคร้คลองไหล่ประดา คลองหัวยโป่ง คลองลึก คลองเมือง ห้วยอ้ายเบี้ย ห้วยกุ่ม ห้วยปลาก้าง รอบ ๆเขตเป็นพื้นที่ราบและเป็นพื้นที่เกษตรกรรมภูมิอากาศสภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อนระหว่าง เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนระหว่างเดื้อนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 29 องศาเซลเชียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 1,598 มิลลิเมตร

ความหลากชนิดของสัตว์ป่า

  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด นก 54 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 2 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด
  • มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (MU) 1 ชนิด ได้แก่ หมีควาย

ชนิดป่าไม้

  ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังผสมสน

 


 


 

ประวัติความเป็นมา

    บึงบอระเพ็ดดั้งเดิมนั้นเป็นที่ราบลุ่ม ปกคลุมได้ด้วยป่าไม้เบญจพรรณ มีลำห้วย ลำคลองไหลมารวมกัน เกิดเป็นหนองน้ำและบึงขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่หลายแห่ง ก่อนจะไหลออกสู่แม่น้ำน่านทางคลองบอระเพ็ด เมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่บริเวณนี้จะท่วมท้นกลายเป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ในฤดูแล้งน้ำในบึงบอระเพ็ดก็ไหลออกจนแห้งลงเหลือแต่บริเวณที่เป็น ห้วย หนอง บึงเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 กระทรวงเกษตราธิการได้สร้างคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำบริเวณคลองบอระเพ็ด เพื่อทำการเก็บกักน้ำไว้สำหรับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแล้วเสร็จ ปี 2471 จึงทำให้บึงบอระเพ็ดกลายเป็นแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่ขึ้นและมีน้ำท่วมขังตลอดปี ซึ่งในปัจจุบันบึงบอระเพ็ดมีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นที่ราชพัสดุซึ่งใช้ในราชการของกรมประมง

 

     ในอดีตบึงบอระเพ็ดอุดมสมบรูณ์ไปด้วยพืชน้ำรวมทั้งพันธุ์ปลาและสัตว์นกน้ำนานาชนิด โดยเฉพาะจระเข้มีอยู่ชุกชุมมาก พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปคำว่าจอมบึง และทะเลเหนือก็เป็นชื่อเรียกที่หมายถึงบึงแห่งนี้ ในปี พ.ศ. 2511 บึงบอระเพ็ดก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก เมื่อมีการค้นพบนกชนิดใหม่ คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตระหนักดีถึงภัยคุกคามที่มีต่อนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และนกน้ำนานาพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นถูกล่าเป็นจำนวนมาก จนปริมาณนกลดลงอย่างน่าวิตก จึงได้ดำเนินการประกาศให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบึงบอระเพ็ดเนื้อที่ประมาณ 66,250 ไร่ เป็น “เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” ในปี พ.ศ. 2518 และได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ทำให้นกน้ำนานาชนิดและสัตว์ป่า ชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบึงบอระเพ็ด ได้รับการดูแลรักษาปกป้อง คุ้มครอง ให้อยู่รอดปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้มีนกน้ำนานาชนิดเข้ามาอยู่อาศัยอยู่ชุกชุม จนได้รับการกล่าวขานว่า “อุทยานนกน้ำบึงบอระเพ็ด”  

    บึงบอระเพ็ดในบริเวณที่เรียกว่า “อุทยานนกน้ำ” กลายเป็นแหล่งที่ดึงดูดผู้คนให้เกิดความสนใจ  เข้าไปเที่ยวชมและพักผ่อนหย่อนใจอยู่เสมอ ซึ่งบริเวณดังกล่าวยังคงสภาพความอุดมสมบรูณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ นกน้ำ พืชน้ำ และระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดจนทิวทัศน์ที่งดงาม กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เห็นพื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะเป็นแหล่งสำหรับการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป จึงได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ขึ้น ในปี พ.ศ. 2535 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” ในปี พ.ศ.2545 ตามโครงสร้างการบริหารงานใหม่ และในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น“ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” สังกัดส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และในปี พ.ศ.2538 กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ได้จัดตั้ง “สถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางวิชาการ โดยมุ่งเน้นในเรื่องนกน้ำชนิดต่างๆ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและหากินของนกน้ำนานาชนิด

 

 

ลักษณะภูมิประเทศ

   บึงบอระเพ็ดมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำตามคำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ เพราะมีน้ำท่วมขังตลอดปี บางแห่งเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะและเป็นเกาะ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ  โดยพื้นที่ในบึงบอระเพ็ดมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะสภาพพื้นที่ โดยมีพันธุ์พืชน้ำขึ้นอยู่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ส่วนสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ใน  บึงบอระเพ็ด มีทั้ง ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทินบก  สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งแมลงต่าง ๆ ในปัจจุบันบึงบอระเพ็ด มีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ เป็นแหล่งรวมของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ ที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

 

 

ลักษณะภูมิอากาศ

  สภาพภูมิอากาศของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด มี 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว    ฤดูร้อน  ฤดูฝน

 -ฤดูหนาว ระหว่างเดือน กันยายน - กุมภาพันธ์

 -ฤดูร้อน ระหว่างเดือน มีนาคม - พฤษภาคม

 -ฤดูฝน ระหว่างเดือน มิถุนายน - ตุลาคม

  อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ  20  องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43 องศาเซลเซียสอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28  องศาเซลเซียส

สภาพบึงและพรรณไม้น้ำ

   สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดปี บางแห่งเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะและเป็นเกาะ ลักษณะแหลมประกอบกันรวมอยู่ในบึงบอระเพ็ดแห่งนี้และประกอบกับมีความเหมาะสมส่งผลให้พืชพรรณไม้น้ำในบึง   มีหลากหลายชนิดสามารถแบ่งได้ 6 ชนิด ตามสภาพพื้นที่  คือ

สภาพบึงและพรรณไม้น้ำ

   สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดปี บางแห่งเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะและเป็นเกาะ ลักษณะแหลมประกอบกันรวมอยู่ในบึงบอระเพ็ดแห่งนี้และประกอบกับมีความเหมาะสมส่งผลให้พืชพรรณไม้น้ำในบึง   มีหลากหลายชนิดสามารถแบ่งได้ 6 ชนิด ตามสภาพพื้นที่  คือ

  1. บริเวณพื้นน้ำ (Open Water) เป็นบริเวณที่มองไปแล้วเห็นแต่พื้นน้ำไม่มีพืชใด ๆ ขึ้น แต่ที่แท้จริงแล้ว มีพรรณพืชหลายชนิดอยู่ไต้น้ำหรือปริ่มน้ำ ได้แก่ แหน หรือแหนปากเป็ด สาหร่ายข้างเหนียว สาหร่ายหางกระรอก และสาหร่ายฉัตร จะพบอยู่บริเวณกลางบึงน้ำ ซึ่งค่อนข้างลึกหรือบริเวณแนวคลองเดิม

 

  1. บริเวณพืชลอยน้ำ (Floating Weed) เป็นบริเวณที่มีพืชบางชนิดลอยอยู่เหนือน้ำมองเห็นได้ชัดเจน ได้แก่จอกหูหนู ผักตบชวา แพงพวยน้ำ ผักบุ้ง และกระจับเป็นต้น บริเวณพืชลอยน้ำจะกระจายอยู่ทั่วไปในบึงซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ลึกมานัก ปกติอยู่โดยรอบบริเวณพื้นน้ำ

 

  1. บริเวณพืชพ้นน้ำ (Emergent Weed) เป็นบริเวณที่มียอดหรือปลายพืชโผล่เหนือน้ำมาบ้างน้อยบ้าง ได้แก่ กกสามเหลี่ยม ธูปฤาษี บัวหลวง บัวสาย หญ้าแพรกน้ำ เทียนนา แห้วทรงกระเทียม บริเวณพืชพ้นน้ำปกติเป็นบริเวณที่ค่อนข้างตื้นกระจายอยู่ทั่วไปในบึงโดยเฉพาะบริเวณขอบบึง

 

  1. บริเวณเกาะ (Island) เป็นบริเวณพื้นดินอยู่ภายบึงอาจเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเนินหรือเขาเตี้ยๆ เมื่อมีการเก็บกักน้ำ แล้วน้ำท่วม ไม่ถึง ซึ่งบริเวณนี้จะมีพรรณพืชเช่นเดียวกับบริเวณบนบก ทุกประการ เกาะอาจจะเกิดขึ้นอีกกรณีหนึ่งคือการสะสมตะกอนทำให้เกิดการตื้นเขินขึ้น จนกลายเป็นเกาะบริเวณเหล่านี้ในช่วงฤดูแล้งอาจจะแห้ง  ส่วนในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมทั้งหมดหรือบางส่วน นอกจากนี้ยังมีเกาะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดูดตะกอนขึ้นมาทำเป็นเกาะ เช่น เกาะดร.สมิธ พรรณพืชที่สำคัญในเกาะ คือ ลำเอียก อ้อ หญ้าปล้อง และหญ้าข้าวนก
  2. บริเวณป่าบึงน้ำจืด (Fresh water Swamp) เป็นบริเวณที่อยู่ริมหรือขอบบึงน้ำจะท่วมในฤดูน้ำหลาก และแห้งในฤดูแล้ง มีพืชพรรณหลายชนิดที่สำคัญ ๆ เช่น  สนุ่น จิกนาก้านเหลือง และทองกวาว

 

  1. บริเวณทุ่งนา (Paddy Field) เป็นบริเวณรอบๆบึง ซึ่งมักจะปลูกข้าวในฤดูฝน ส่วนฤดูอื่นอาจปลูกพืชไร่ เช่นข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือทิ้งไว้กลายเป็นทุ่งหญ้า บริเวณทุ่งนาดังกล่าวนี้รวมถึงบริเวณบึงที่เป็นหาดโคลน ซึ่งไม่มีพืชใด ๆ อยู่หรือมีแต่น้อย น้ำจะท่วมหรือแล้งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่กักเก็บ ปกติ ในฤดูฝนถูกน้ำท่วมส่วนในฤดูแล้งค่อนข้างแห้งแล้ง

สัตว์ป่า  สัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่  ได้แก่

  1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น พังพอนธรรมดา หนูพุกเล็ก  หนูพุกใหญ่  หนูท้องขาว  ค้างคาว

  2.สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด ตะพาบน้ำ ตับหับ เต่านา  เหี้ย  งูแสงอาทิตย์  งูแมวเซา  งูเห่า งูหลาม  งูเหลื่อม  ปลวก  เต่าดำ

 3.สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น เขียดจะนา  เขียดจิก  กบนา   กบหนอง  เขียดตะปาด  อึ่งอ่างบ้าน  อึ่งขาดำ  คางคก

 4.สัตว์จำพวกนก สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด  นกประจำถิ่น  นกอพยพ  และทั้งประจำถิ่นและอพยพ

   - นกประจำถิ่น ได้แก่  นกอีโก้ง  นกอีแจว  นกแอ่นบ้าน  นกพิราบ  นกเขาใหญ่ นกกวัก  นกอัญชันคิ้วขาว

 

   - นกอพยพย้ายถิ่น  ได้แก่  นกเป็ดแดง นกชายเลนน้ำจืด  นกแอ่นทุ่งใหญ่ นกแอ่นทุ่งเล็ก  นกคู๊ท  นกนางนวลแกลบ  นกกระทุง

  - นกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ ห่านเทา  เป็ดหงส์  นกกระรางหัวขวาน  นกกระเต็นน้อยธรรมดา  นกกระเต็นแดง นกกระเต็นหัวดำ  นกกะปูดเล็ก นกอีลุ้ม  นกอีล้ำ นกตีนเทียน  นกอีแจว

  5.สัตว์จำพวกปลา ได้แก่ ปลาตะเพียน   ปลานิล  ปลาดุก  ปลาสวาย  ปลาฉลาด  ปลาชะโด ปลาช่อน  ปลาเสือตอ  ปลาซิว  ปลาแปลบ

 

 

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ      

    ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ได้บริหารจัดการพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บึงบอระเพ็ด ไว้รองรับผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของ  บึงบอระเพ็ดทั้งหมด โดยทางหน่วยงานได้จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ไว้บริการ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ  คู่มือศึกษาธรรมชาติ  หลักสูตรและโปรแกรมการศึกษาธรรมชาติ  ห้องนิทรรศการ ห้องสมุด หอประชุม หอและซุ้มดูนก  กล้องดูนก  ค่ายพักเยาวชน  ที่กางเต็นท์  เรือนำชมธรรมชาติในบึง  ห้องน้ำ  ห้องสุขา  ลานจอดรถ  และเจ้าหน้าที่สื่อความหมายธรรมชาติ  โดยมีจุดเด่นในพื้นที่ที่น่าสนใจ  ได้แก่

1.อนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

     สามารถชมนกน้ำนานาชนิดได้บริเวณนี้ และถ่ายภาพพื้นที่  บึงบอระเพ็ดได้หลากหลายบรรยากาศ

 

2.ศาลเจ้าแม่หมอนทอง

     เป็นศาลที่ชาวบึงบอระเพ็ดให้ความเคารพนับถือกันอย่างมาก  ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านจะลงบึงเพื่อทำการประมงก็จะมาบอกกล่าว  ที่ศาลก่อน

 

3. จุดชมทิวทัศน์ (หอดูนก)

     บริเวณหอดูนกจะเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ในมุมสูงของ บึงบอระเพ็ดได้เป็นอย่างดี

 

4. พื้นที่นันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ

     จะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทั่วปามารถเดินเท้าและปั่นจักรยานเข้าไปใช้บริการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เช่น การดูนก  ถ่ายภาพ  เดินศึกษาธรรมชาติ  ปั่นจักรยาน  เป็นต้น

 

 

5. เส้นทางศึกษาธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ระยะทางประมาณ 2,020 เมตร อยู่ในบริเวณสำนักงานศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ห่างจากตัวสำนักงานไปประมาณ 100 เมตร 

 

6. เส้นทางศึกษาธรรมชาตินกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ระยะทางประมาณ 1,350 เมตร อยู่ในบริเวณหอดูนก ห่างจากสำนักงานไปประมาณ 400 เมตร

7. เส้นทางศึกษาธรรมชาติทางน้ำ (Board work) ระยะทางประมาณ 444 เมตร

สถานที่ติดต่อ

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด  66/10 หมู่ที่ 5  ตำบลพระนอน  อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ 60000 โทรศัพท์/โทรสาร 0 - 5600 - 9716  E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เส้นทางการคมนาคม

- จากทางสายเอเชียแยกเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3004 ระยะทาง 17 กิโลเมตร และแยกเข้าทางหลวงชนบท หมายเลข 4066 อีก 3.4 กิโลเมตร

 

  

 


  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี และมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย และเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีลักษณะเป็นผืนป่าที่มีความยาวจากเหนือจรดใต้วัดเป็นเส้นทางตรงมากกว่า 100 กิโลเมตร มีพื้นที่กว่า 1,737,587 ไร่ แต่ได้ผนวกรวมเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง จนขยายเป็นประมาณ 1,800,000 ไร่ หรือ 2,880 ตารางกิโลเมตร ในปัจจุบัน ทางเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในจังหวัดตากและกาญจนบุรี และทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี มีเพียงพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่อยู่ติดกับชุมชน 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านไร่, อำเภอลานสัก และอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

  เดิมทีเป็นผืนป่าที่ได้รับสัมปทานให้ตัดไม้ แต่กลับไม่เคยถูกบุกรุก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มมีการสำรวจทางวิชาการอย่างจริงจัง และได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำดับที่ 5 ของไทย ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งทิวเขาและที่ราบ โดยเป็นแนวเขาของทิวเขาถนนธงชัยและตอนเหนือของทิวเขาตะนาวศรี มีความหลากหลายทั้งภูมิประเทศ, ภูมิอากาศ และความชื้น อันเป็นที่มาของความหลากหลายทางชีวภาพ จนกล่าวได้ว่าที่นี่มีป่าเกือบทุกประเภท ยกเว้นป่าชายเลนและป่าชายหาด หรือป่าพรุน้ำจืด เท่านั้น โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถือเป็นพื้นที่เงาฝน เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่อยู่ทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ ๆ สูงกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้นเมื่อฝนมาปะทะที่ด้านทิศตะวันตกรวมถึงตะวันตกเฉียงใต้ก็จะตกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโดยข้ามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไป จึงทำให้ป่าที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ป่าดิบ แต่เป็นป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะป่าไผ่

  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังเป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำสำคัญ 3 สาย คือ ลำน้ำทับเสลา ซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำทับเสลา และไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังจนกระทั่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, ลำน้ำห้วยขาแข้งไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ และลำน้ำแม่กลอง–อุ้มผาง ที่ไหลจากจังหวัดกาญจนบุรีและตาก ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตไฟฟ้ารวมถึงน้ำประปาในภาคตะวันตกและกรุงเทพมหานคร

  ความหลากหลายทางชีวภาพของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่น สมเสร็จ, เก้งหม้อ, เลียงผา, กระทิง, วัวแดง, ควายป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ทางธรรมชาติแห่งสุดท้ายแล้วในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียงกันด้วย จากการศึกษาพบว่ามีประมาณ 70–80 ตัว จากปริมาณทั้งหมดที่มีในธรรมชาติในประเทศไทย 250–300 ตัว โดยเฉพาะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนี้จะมีสัตว์ป่าที่เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวที่นิยมการเที่ยวแบบผจญภัยหรือนักถ่ายภาพธรรมชาติอยู่ทั้งสิ้น 7 ชนิด เรียกกันว่า "ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 7" (Big 7) ได้แก่ ช้าง, เสือโคร่ง, เสือดาว, ควายป่า, วัวแดง, กระทิง และสมเสร็จ



ประวัติ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม