ข้อมูลทั่วไป
มีประวัติการค้นพบศรโบราณบริเวณเขาชอนเดื่อแห่งนี้ ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2453 ครั้งหลวงพ่อรุ่ง ฆคสุวฺณโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองตานวล (วัดหนองสีนวล) ได้นำศรเครื่องสัมฤทธิ์ มีหัวคันศรเป็นนาคราช 3 เศียร มีสายและลูกพร้อม ซึ่งได้มาจากเขาชอนเดื่อ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และทรงพระราชทานนามศรโบราณนี้ว่า “พระแสงศรกำลังราม” และมีตำนานเล่าว่าที่เชิงเขาด้านทิศตะวันตกมีถ้ำพญานาค ภายในถ้ำมีบ่อน้ำที่ไม่เคยแห้งเหือด ชาวบ้านเขตพื้นที่ใกล้เคียงได้อาศัยเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ห่างจากถ้ำพญานาคไปประมาณ 400 เมตร พบแหล่งน้ำซับที่ไหลออกบริเวณโคนต้นมะเดื่อ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เขาชอนเดื่อ”
พื้นที่บริเวณเขาชอนเดื่อและเขาขวาง ในเขตท้องที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี และตำบลหนองพิกุล อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่รวม 4,659 ไร่ ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2540 โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดบริเวณพื้นที่ในท้องที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี และตำบลหนองพิกุล ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ให้เป็นวนอุทยาน เนื้อที่ 4,703 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 290 ง วันที่ 14 ธันวาคม 2563
ขนาดพื้นที่
4,703 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่วนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนโดดเดี่ยว มีทิวทัศน์สวยงาม ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะ มีความสูงชันและแสดงหน้าผาชัดเจน โดยมีความสูง 80 - 373 เมตร จากระดับ น้ำทะเลปานกลาง มีความโดดเด่นของลักษณะภูมิประเทศแบบคาร์ส (karst) โดยน้ำจะชะละลายหินปูนออกไปจนมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำเต็มไปด้วยหลุมบ่อ เกิดถ้ำและทางน้ำใต้ดิน ในพื้นที่วนอุทยานพบถ้ำหลายแห่ง มีลักษณะสภาพเป็นธรรมชาติมาก มีการสะสมตัวของตะกอนถ้ำหรือแร่แคลไซต์ให้ลักษณะหินงอกหินย้อย หลอดหินย้อย หินปูนฉาบหรือหินน้ำไหลสวยงามมาก ในบางบริเวณยังพบซากบรรพชีวินชนิดต่างๆ เช่น ฟิวซูลินิด (fusulinids) ไครนอยด์ แบรคิโอพอต ปะการัง และสาหร่าย ซึ่งแสดงถึงการสะสมตัวของหินปูนในเขตทะเลน้ำตื้น เหมาะสมเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาสำหรับเยาวชน
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยในฤดูฝนมีฝนตกชุกปานกลาง ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างเย็นในบริเวณใกล้ภูเขา ส่วนฤดูร้อนอากาศจะร้อนมากถึงร้อนจัด และมีลมพายุรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 29 - 30 องศาเซลเซียส
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
ชนิดป่าที่ปรากฏในวนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง บริเวณพื้นที่เขาชอนเดื่อและเขาขวาง สามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิดป่าหลัก คือ ป่าเบญจพรรณ และป่าละเมาะเขาหินปูน ดังนี้
1. ป่าเบญจพรรณ สังคมพืชป่าเบญจพรรณที่พบในพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณแล้งบนภูเขาหินปูน ที่ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม - เมษายน) ต้นไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบทำให้เรือนยอดของป่าโปร่งมาก เมื่อเข้าฤดูฝนต้นไม้จึงเริ่มผลิใบใหม่ และป่าจะคืนความเขียวขจีอีกครั้ง พันธุ์ไม้ที่พบทั่วไปได้แก่ กะเจียน ขี้หนอน แคหางค่าง งิ้วป่า แจง ตะโกนา ตะคร้ำ ตะคร้อ ตะแบกเกรียบ ตานดำ ปรู๋ มะกอก ยอเถื่อน สมอร่อง สวอง และไผ่รวก สภาพป่าพื้นล่างโดยทั่วไปจะมีไม้พุ่ม ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก และลูกไม้ของไม้เรือนยอดปกคลุมห่างๆ เช่น ขันทองพยาบาท คนทา น้ำใจใคร่ จันทนา มะลิวัลย์เถา โมกเครือ พืชวงศ์กลอย วงศ์ขิงข่า และวงศ์บุก เป็นต้น
2. ป่าละเมาะเขาหินปูน จะพบบนโขดเขาหินปูนที่แห้งแล้ง หรือพื้นที่ที่เป็นหุบเหวค่อนข้างชื้น มักพบสังคมพืชที่มีลักษณะพิเศษเป็นหย่อมเล็กๆ ปรับตัวขึ้นอยู่ตามภูเขาหินปูนที่ไม่ปรากฏชั้นดินชัดเจน พันธุ์ไม้ที่พบมักทนความแห้งแล้งได้ดี มีใบหนาอุ้มน้ำ หรือลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมคม เช่น กล้วยผา ขี้เหล็กฤๅษี จันทน์ผา สลัดไดเขา และสลัดไดป่า เป็นต้น ซึ่งพันธุ์ไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบช่วงฤดูแล้ง ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นมีระบบรากที่แข็งแรง สามารถแทรกลงไปยึดเกาะในร่องบริเวณรอยแตกของหินปูน พืชล้มลุกส่วนใหญ่จะมีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง พืชเด่นที่พบได้แก่ กระท่อมเขา ตะคร้ำหิน แคสันติสุข โมกราชินี ปอฝ้าย สมพง และพืชสกุลไทร ในพื้นที่สองข้างทางเปิดใหม่จะพบปอขาว มะกัก และยาบขี้ไก่ เป็นไม้ยืนต้นเบิกนำ พืชล้มลุกอื่นๆ ที่พบ เช่น ชมลมหินดอกแดง พลูช้าง และผักสาบ ส่วนพันธุ์ไม้ที่พบบริเวณไหล่เขาและหุบเขาที่มีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูง ได้รับแสงแดดไม่จัดนัก และมีชั้นดินหนา จะพบพันธุ์ไม้หลากชนิดกว่า พืชเด่นที่พบได้แก่ กระเบากลัก กระชิด ทลายเขา ช้องรำพัน ตาตุ่มบก เทียนขโมย สองกระดองหิน พญารากดำ พุดผา และฝิ่นแดง ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และพืชล้มลุกอื่นๆ ที่พบ เช่น ผักหวานเมา กระแตไต่หิน หูหมี ชายผ้าสีดา บุกก้านยาว และชำมะนาดเล็ก เป็นต้น
สัตว์ป่า
จากข้อมูลการสำรวจ การสอบถามจากเจ้าหน้าที่และราษฎรในพื้นที่วนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง พบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 27 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด และสัตว์ปีก พบจำนวน 105 ชนิด ซึ่งมีลิ่นชวา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endanger) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับโลกของ IUCN (version 2013.2) อึ่งปากขวด เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับประเทศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2540) และตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับโลกของ IUCN (version 2013.2) งูจงอาง เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับโลกของ IUCN (version 2013.2) และมีนกแสก เป็นสัตว์ปีกที่มีความสำคัญของพื้นที่ โดยมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) และมีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ตามสถานภาพทรัพยากรชีวภาพระดับประเทศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2540)
สถานที่ท่องเที่ยวในวนอุทยาน
1. ถ้ำวังไข่มุก
ถ้ำวังไข่มุก อยู่ทางด้านทิศเหนือของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 200 เมตร ภายในมีห้องโถง 4 ห้อง ได้แก่ ห้องเหล็กไหล ห้องวังบาดาล ห้องโถง และห้องวังไข่มุก โดยเฉพาะห้องวังไข่มุก จะมีหินงอกหินย้อยสีขาวราวกับไข่มุกประดับประดาด้วยเกล็ดเพชร ส่องแสงเป็นประกายสวยงาม
2. ถ้ำประดับเพชร
ถ้ำประดับเพชร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 200 เมตร ภายในมีห้องโถง 4 ห้อง มีหินงอกหินย้อยสีน้ำตาลอ่อนถึงเทานวลที่มีแสงสะท้อนระยิบระยับของเกล็ดเพชร ประกอบกับมีประติมากรรมหินงอกหินย้อยหลากหลาย เช่น หินรูปพระพิฆเนศ หินรูปเจ้าแม่กวนอิม หินรูปมนุษย์ยักษ์ และหินรูปนางอาย เป็นต้น
3. ถ้ำมรกต
ถ้ำมรกต อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 350 เมตร ทางลงถ้ำเป็นบันไดเหล็กมีความลึกประมาณ 15 เมตร ภายในจะพบกับประติมากรรมหินย้อยขนาดใหญ่สีเขียวเข้มลอยเด่นตระการตากลางห้องโถงใหญ่ และมีห้องเล็กๆ 1 ห้อง ภายในมีหินงอกหินย้อยประดับด้วยแสงระยิบระยับของเกล็ดเพชร
4. ถ้ำประกายเพชร
ถ้ำประกายเพชร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 200 เมตร ภายในมีห้องโถง 4 ห้อง มีหินงอกหินย้อยสีน้ำตาลอ่อนถึงเทานวลที่มีแสงสะท้อนระยิบระยับของเกล็ดเพชร ประกอบกับมีประติมากรรมหินงอกหินย้อยหลากหลาย เช่น หินรูปพระพิฆเนศ หินรูปเจ้าแม่กวนอิม หินรูปมนุษย์ยักษ์ และหินรูปนางอาย เป็นต้น
5. ถ้ำเพชรคิงคอง
ถ้ำเพชรคิงคอง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 900 เมตร ภายในมีห้องขนาดเล็ก 4 ห้องย่อย มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ประดับประดาไปด้วยหินงอกหินย้อยสีขาวปนเทา ที่บริเวณกลางห้องโถงใหญ่จะมีประติมากรรมหินงอกคล้าย “คิงคองยักษ์” ตั้งตระหง่านกลางโถงถ้ำเป็นที่แปลกตาและน่าเกรงขาม
6. ถ้ำวิมานลอย
ถ้ำวิมานลอย อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการประมาณ 1,200 เมตร ภายในมีห้องขนาดเล็ก 4 ห้องย่อย ห้องวิมานลอยจะเป็นห้องโถงย่อยขนาดเล็ก ที่ยกระดับขึ้นเป็นอีกห้องหนึ่ง ภายในมีประติมากรรมหินงอกหินย้อยที่สวยงามเปรียบได้กับชั้นวิมาน นอกจากนี้ ยังพบซากบรรพชีวินไครนอยด์ (Crinoid stem) หลากหลายขนาดตามผนังถ้ำของห้องโถงย่อยใกล้ทางออก ไว้ให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้
สถานที่ติดต่อ : ตั้งอยู่ที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
พิกัดที่ทำการฯ : 15.3050048 , 100.39404969
หัวหน้าวนอุทยาน : นายยุทธนา ทองบุญเกื้อ
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ
โทรศัพท์ : 097-238-3590
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
รถยนต์
เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ตามถนนสายเอเชีย เลี้ยวซ้ายเข้าสู่จังหวัดชัยนาท แล้วกลับรถมุ่งหน้าตามถนนพหลโยธิน สู่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ขับผ่านอำเภอตาคลีไปประมาณ 7 กิโลเมตร สังเกตหลักกิโลเมตรที่ 248 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายรอง (พหลโยธิน - บ้านสระแก้ว) ระยะทาง 500 เมตร ถึงที่ทำการวนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง
รถไฟ
ทางรถไฟสายเหนือ กรุงเทพ - เชียงใหม่ แล้วลงสถานีอำเภอตาคลี แล้วไปขึ้นรถโดยสารหรือรถรับจ้างไปถ้ำเพชร - ถ้ำทอง ประมาณ 12 กิโลเมตร